วันพุธที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2552

ชาวประมง

ชาวประมงพื้นบ้านในภาคใต้ สภาพปัญหากับข้อเสนอเชิงนโยบายโดย : สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ เมื่อ : 6/12/2007 10:09 AM
ขณะที่อาหารทะเลขึ้นโต๊ะเหลาราคาแพงลิ่ว ประเทศไทยมีผลผลิตการประมงส่งออกมากติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ทำไมชาวประมงผู้หาปลายังยากจน เป็นคำถามที่ชวนคิดหาคำตอบสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้คลุกคลีกับชาวประมงมากนัก แต่สำหรับชาวประมงพื้นบ้านแล้ว มันกลับเป็นความจริงอันขมขื่น เพราะว่าสัตว์น้ำสดๆที่ขึ้นโต๊ะอาหารและส่งออกนั้น เข้ากระเป๋าคนหาปลาเพียงน้อยนิด และต้องเผชิญกับปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสัตว์น้ำที่ร่อยหรอลง โดยที่เขาเหล่านั้นแทบไม่ได้ก่อขึ้น ข้อเขียนนี้จะพยายามชี้ให้เห็นข้อเท็จจริง พร้อมทั้งเสนอแนวทางออกจากปัญหาข้อเท็จจริงนั้น (๑) ทะเลไทย เราควรรู้ว่า ประเทศไทยนั้นมีพื้นที่ชายฝั่งติดทะเล ๒๓ จังหวัด ชายฝั่งทะเลมีความยาวรวมทั้งสิ้นประมาณ ๒,๘๑๕ กิโลเมตร แบ่งเป็นชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยมีความยาวประมาณ ๑,๘๖๑ กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ ๑๗ จังหวัด และทะเลชายฝั่งพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน มีความยาวทั้งสิ้น ๙๕๔ กิโลเมตร สำหรับในภาคใต้นั้นจัดเป็นสามทะเล คือ ทะเลภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ทะเลฝั่งอันดามัน รวมความยาวทั้งสองฝั่ง ๑,๖๗๒ กิโลเมตร และทะเลสาบสงขลาซึ่งเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่มีพื้นที่ผิวน้ำ ๙๘๘.๓๑ ตารางกิโลเมตร หรือ ๖๑๘,๓๑๙ ไร่ และยิ่งควรรู้ว่า ในท้องทะเลไทยนั้น มีปลากว่า ๒,๐๐๐ ชนิด ซึ่งคิดเป็นร้อยละ ๑๐ ของทั่วโลก หอยประมาณ ๒,๐๐๐ ชนิด สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ รวมกันอีก ๑๑,๙๐๐ ชนิด ในทะเลสาบสงขลามีปลามากกว่า ๗๐๐ ชนิด ปูและกุ้ง ๒๐ ชนิด พันธุ์ไม้น้ำสาหร่ายประมาณ ๕๗ ชนิด นอกจากนั้นชายฝั่งทะเลไทยยังอุดมไปด้วยพืชพันธุ์ไม้ชายฝั่งและใต้น้ำ หลากชนิด ในป่าชายหาด ป่าชายเลน และดงหญ้าทะเล เป็นทั้งแหล่งอาหาร สมุนไพรและพันธุกรรมธรรมชาติที่สำคัญของสังคมไทย ทะเลและทรัพยากรชายฝั่งจึงเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของไทย เป็นที่หาอยู่หากินของชาวประมงพื้นบ้านกว่า ๓, ๗๙๗ หมู่บ้าน ๕๖,๘๕๙ ครัวเรือน ซึ่งร้อยละ ๙๒ เป็นชาวประมงพื้นบ้านอันเป็นส่วนหนึ่งของระบบการผลิตฐานรากค้ำจุนสังคมไทย มานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (๒) ชาวประมงพื้นบ้าน ที่เราควรรู้มากกว่านั้น คือ ชาวประมงผู้จับปลาในสังคมไทยนั้น มี สองกลุ่มหลักๆ คือกลุ่มชาวประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ลงทุนธุรกิจจับสัตว์น้ำเพื่อสร้างกำไรเป็นหลัก และกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านหรือชาวประมงขนาดเล็กซึ่งใช้แรงงานจากสมาชิกในครัวเรือนเป็นส่วนใหญ่ บางครอบครัวไม่มีเรือ บางครอบครัวใช้เรือไม่มีเครื่องยนต์ หรือใช้เรือมีเครื่องยนต์นอกเรือ (เรือหางยาว) หรือใช้เรือมีเครื่องยนต์ในเรือขนาดระวางบรรทุกต่ำกว่า 5 ตันกรอสเรือที่ใช้จะเป็น เรือหางยาว หัวโทง กอและ หรือท้ายตัดเป็นส่วนใหญ่ ชาวประมงพื้นบ้านจะใช้เครื่องมือประมงแบบพื้นบ้าน ที่ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นเองใช้วัสดุในท้องถิ่น ที่มีลักษณะเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ที่สำคัญ คือ เลือกจับสัตว์น้ำได้เฉพาะชนิด เฉพาะอย่าง เช่น อวนลอยปลา อวนลอยกุ้ง อวนจมปู แห เบ็ด ลอบ ไซ ลอบปลาหมึก หยองดักปู ใช้เครื่องมืออื่นๆผลัดเปลี่ยนไปตามความชุกชุมของสัตว์น้ำที่เข้ามาชายฝั่ง เช่น ระวะรุนเคย สวิงช้อนแมงกะพรุน ลอบปลา เป็นต้น เครื่องมือที่เพิ่มขึ้นมาในระยะหลัง ได้แก่ ลอบและจั่นหอยหวาน ลอบลูกปลากะรัง เป็นต้น ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ การสำรวจสำมะโนประมงทะเลของสำนักงานสถิติแห่งชาติและกรมประมง พบว่าประเทศไทยมีหมู่บ้านชาวประมง ๓,๗๙๗ หมู่บ้าน มีครัวเรือนชาวประมงทั้งสิ้น ๕๖,๘๕๙ ครัวเรือน ในจำนวนทั้งหมดนั้นเป็นครัวเรือนประมงขนาดเล็ก ร้อยละ ๙๒ สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมได้รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมไทยปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ไว้ว่า ในปี ๒๕๔๔ มีเรือประมงทั้งหมดที่จดทะเบียนการมีไว้ในครอบครองซึ่งเครื่องมือทำการประมงกับกรมประมง จำนวน ๑๕,๙๔๕ ลำ (กรมประมง ๒๕๔๖) เป็นเรือขนาดใหญ่ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น ๒๓๒ ลำ ที่เหลือเป็นเรือขนาดเล็ก (ขนาดต่ำกว่า ๒๕ เมตร) ซึ่งมีจำนวนลดลง ผลผลิตจากการจับด้วยเทคโนโลยีแบบชาวประมงพื้นบ้านนี่เอง ที่ทำให้ผู้บริโภคได้อาหารทะเลที่สด สะอาด ไม่มีสารพิษ สัตว์น้ำได้ขนาดสมวัย ผิดกับการจับเอาปริมาณมากๆ ออกทะเลหลายวัน หรือใช้เวลาเป็นครึ่งเดือนกว่าจะนำปลาเข้าฝั่ง ที่ต้องผ่านกรรมวิธีแช่ดองไว้ กว่าจะถึงผู้บริโภคต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ และแน่นอนว่าในปัจจุบันนั้นปริมาณการผลิตของชาวประมงพื้นบ้านรวมกันทั้งหมด น้อยกว่าผลผลิตของชาวประมงแบบพาณิชย์รวมกัน จากข้อมูลดังกล่าวเราจะเห็นว่าชาวประมงขนาดเล็ก หรือชาวประมงพื้นบ้านยังเป็นคนส่วนใหญ่ของชาวประมงทั้งหมด และมีนัยยะสำคัญยิ่งในแง่ของความมั่นคงทางอาหารต่อสังคมไทย (๓) สภาพปัญหาชาวประมงพื้นบ้าน
๓.๑ ทรัพยากรเสื่อมโทรม ปัญหาความยากจนของชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็กนั้น จึงเกิดจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งซึ่งเป็นต้นทุนชีวิต ต้นทุนอาชีพ ที่ได้ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วจากการทำประมงด้วยเครื่องมือทำลายประเภทต่างๆ การจับสัตว์น้ำอย่างไม่ยั้งมือ โดยใช้วิธีการประมงที่ทำลายล้าง ได้แก่ การใช้ระเบิด ยาเบื่อ โพงพาง อวนรุน อวนลาก เรือปั่นไฟจับปลากะตัก ฯลฯ และยังมีพัฒนาการของเครื่องมือประมงใหม่ๆออกมาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหลายชนิดมีสภาพทำลายทรัพยากร เช่นกัน นโยบายการผลิตสัตว์น้ำจำนวนมากเพื่อขายส่งออก นำรายได้เข้าประเทศ เป็นฐานคิดสำคัญที่ส่งผลให้มีการจับสัตว์น้ำจำนวนมหาศาลเพื่อขาย สร้างความร่ำรวย แต่ข้อเท็จจริงคือ มีคนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ในขณะที่ได้ทำลายความมั่นคงของประชาชนจำนวนมากไป เมื่อทรัพยากรเสื่อมโทรม กลับกล่าวโทษซ้ำเติมชาวประมงพื้นบ้านผู้ที่เสียเปรียบอยู่แล้ว เป็นด้านหลัก โดยพยายามชี้ว่า ชาวประมงพื้นบ้านมีจำนวนมากเกินไป จนทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากร ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำของไทยเสื่อมโทรมจนวิกฤติในปัจจุบัน การพัฒนากิจการประมงไทยตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประมาณปี ๒๔๘๘ และทิศทางการพัฒนาประเทศมุ่งเน้นเศรษฐกิจจากการส่งออก ทรัพยากรประมงไทย ถูกเร่งจับมากขึ้นและทรุดลงอย่างรวดเร็ว มีการพัฒนากฎหมายประมงจาก พ.ร.บ. อากรค่าน้ำ ร.ศ. ๑๒๐ เป็น พ.ร.บ. การประมง ๒๔๙๐ ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เริ่มมีการส่งเสริมการทำประมงอวนลากหน้าดิน หลังจากปี ๒๕๐๓ การทำประมงขนาดใหญ่ของไทยด้วยอวนลากหน้าดินขยายตัวอย่างรวดเร็ว หลังปี ๒๕๐๓ เพียง ๕ ปีทรัพยากรสัตว์น้ำในอ่าวไทยทรุดโทรมลงทันที เรือประมงขนาดใหญ่ออกจากฝั่งไกลขึ้น กองเรือประมงไทยทำการประมงพื้นที่ชายฝั่ง ๑๒ ไมล์ทะเลของประเทศเพื่อนบ้านด้วย และจากปริมาณการจับจำนวนนั้นประเทศไทยติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ ของประเทศผู้ผลิตสินค้าประมงของโลก ด้วยเช่นกัน ก่อนปี ๒๕๐๓ ไทยจับสัตว์น้ำได้ปีละ ๑๕๐, ๐๐๐ ตัน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึง ๑.๕ ล้านตันในปี ๒๕๑๕ และปี ๒๕๒๐ มีการพัฒนาอวนล้อมจับปลาผิวน้ำปริมาณสัตว์น้ำ จับได้เพิ่มเป็น ๒ ล้านตัน และ ๒.๘ ล้านตันในปี ๒๕๓๘ จากนั้นเริ่มลดลงเหลือ ๒.๗ ล้านตันในปี ๒๕๔๑ พร้อมกับปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้เพิ่มขึ้น ทะเลไทยก็ได้เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ปี ๒๕๐๔ จากที่เคยจับสัตว์น้ำด้วยอวนลากในอ่าวไทยได้ชั่วโมงละ ๒๙๘ กิโลกรัม ลดลงเหลือเพียงชั่วโมงละ ๒๐ กิโลกรัมในปี ๒๕๓๒ จนในปี ๒๕๔๑ พบว่าบางครั้งสามารถจับสัตว์น้ำได้เพียง ๗ กิโลกรัมต่อชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนี้ปลาที่จับได้เป็นปลาขนาดเล็กและลูกปลาเศรษฐกิจร้อยละ ๔๐ และล่าสุดปี ๒๕๔๖ พบว่าสามารถจับสัตว์น้ำได้ค่าเฉลี่ยร้อยละ ๑๙.๒๒ กิโลกรัมต่อชั่วโมงอวนลาก และค่าต่ำสุดร้อยละ ๒.๓๘ กิโลกรัมต่อชั่วโมง เท่านั้น ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้เป็นกลุ่มปลาเศรษฐกิจได้ (ขนาด) ร้อยละ ๓๘.๕๐ และเป็นปลาเป็ดและลูกปลาเศรษฐกิจขนาดเล็กถึงร้อยละ ๖๑.๕๐ สรุป คือ ความเสื่อมโทรมของสัตว์น้ำทะเล จึง เกิดจากเครื่องมือประมงเกือบทุกประเภทที่จับสัตว์น้ำ ได้มาก ชนิด หลายขนาดกว่าที่ต้องการ ทำให้เกิดการประมงมวลชีวภาพ คือ การทำประมงโดยมุ่งกวาดเอาสัตว์ทะเลทุกชนิดในคราวเดียวกัน การประมงที่ยั่งยืน จึงต้องพิจารณากันที่กลวิธีในการจับ จับอย่างไร ใช้อย่างไรให้พอกับทุกคน และเหลืออยู่ให้เกิดก่อหน่อเนื้อใหม่ ดังนั้นการจัดการประมงที่สำคัญ คือการควบคุมการใช้เครื่องมือ เช่นควบคุมตาอวน, จำนวน, พื้นที่ที่ทำการประมง, ช่วงเวลา, ควบคุมสัตว์น้ำที่จับ เครื่องมือบางประเภทต้องควบคุมโดยเด็ดขาด แต่อีกหลายประเภทไม่ได้เป็นแบบทำลายโดยตัวมันเองโดยลำพัง แต่จะเปลี่ยนไปตามองค์ประกอบและวัตถุประสงค์ ๓.๒ ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านไร้สิทธิในที่อยู่อาศัย อาชีพจับปลาต้องอยู่กับทะเล การอาศัยอยู่ชายฝั่งทะเลจึงเป็นความสำคัญประการแรกของชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน ในยุคก่อน ก่อร่างสร้างตัวด้วยความยากจน บ้านเรือนตั้งอยู่ใกล้ทะเล เพื่อสะดวกในการออกทำการประมง มีที่เก็บเรือ มีพื้นที่กว้างพอในการถอยเรือ สะดวกในเวลาน้ำขึ้นน้ำลง หลบลม หลบคลื่นได้ หรืออยู่ใกล้แนวคลอง เนื่องจากที่มีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศน์ชายฝั่ง เกิดการอพยพโยกย้าย ตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยในบริเวณชายฝั่งมาเป็นเวลาช้านาน ทั้งที่มีเอกสารสิทธิ์แล้วและยังไม่มีเอกสารสิทธิ ก่อร่างสร้างตัวจากการออกหาสัตว์น้ำ กุ้งหอยปูปลา ด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้าน มีลูกมีหลาน พากันสืบทอด กลายเป็นชุมชนสืบเนื่องมา เมื่อทุกอย่างพัฒนาขึ้น ผู้คนมากขึ้น กอร์ปกับกระแสการบุกรุกพื้นที่ชายฝั่งเพื่อการอุตสาหกรรม การเพาะเลี้ยงชายฝั่ง เช่น การเลี้ยงกุ้งกุลาดำ การบุกรุกยึดครอง ได้ทำให้เกิดความสับสนขึ้นในสังคมและภาครัฐ ว่าเป็นการบุกรุกเพื่อที่อยู่อาศัยของชุมชน จากความคิดความเชื่อที่สับสน และการประกาศนโยบายพื้นที่ชายฝั่ง เป็นเขตอนุรักษ์ พื้นที่ที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านจึงถูกละเลย พื้นที่ที่ไม่ได้รับการรับรองสิทธิมาก่อนถูกกดดันให้รื้อถอน และเริ่มมีมาตรการของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ห้ามอยู่ชายฝั่ง หรือต้องขออนุญาตก่อน ทำให้ การตั้งชุมชนอยู่ของชาวประมง ถูกตีค่าว่าบุกรุกที่สาธารณะ กลายเป็นเป้าหมายในการจัดระเบียบซึ่งอาจทำให้ชายหาดสวยงาม แต่จะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนของชาวประมงพื้นบ้าน ในกรณีชุมชนชาวมอแกน มอแกลน และอูรักลาโว๊ย ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธ์ดั้งเดิม อาศัยพึ่งพิงทรัพยากรทางทะเลมาแต่บรรพบุรุษ บางกลุ่มมีสิทธิในที่อยู่อาศัยอยู่เดิมแต่จะพบปัญหาถูกยึดครองโดยผู้อื่น เพราะไม่เท่าทันกลโกงทำให้ถูกลวงเอาที่ดินไปในหลายกรณี บางกลุ่มไม่มีถือสิทธิเหนือที่ดินที่อยู่เดิม มักพบปัญหาว่าชุมชนเหล่านั้นตกเป็นจำเลยข้อหาเป็นผู้บุกรุก เป็นผู้ทำผิดกฎหมายเมื่อมีการประกาศพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติทับพื้นที่ ในส่วนการแก้ไขปัญหาด้วยการจัดที่อยู่อาศัยให้ชุมชนเหล่านั้น มักพบปัญหาความไม่เข้าใจในวิถีชีวิตนำไปสู่การละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งที่พวกเขาต่างเป็นพี่น้องมนุษยชาติเช่นเดียวกับเรา และสิทธิที่เขาควรได้รับก็เป็นของเขามาแต่เดิม... ๓.๓ อุทยานแห่งชาติทางทะเล ละเมิดสิทธิชุมชนท้องถิ่น หลังปี พ.ศ.๒๕๒๔ ได้มีการเร่งประกาศแนวเขตอุทยานในพื้นที่ทะเล ชายฝั่ง และเกาะ เกิดขึ้นในหลายท้องที่ จนยี่สิบปีต่อมาในปัจจุบัน มีอุทยานแห่งชาติทางทะเล ๒๑ แห่ง รวมเนื้อที่ประมาณ ๓,๕๘๖,๘๗๙ ไร่ และอยู่ในภาคใต้ ๑๗ แห่ง ฝั่งตะวันออก ๒ แห่ง และ ฝั่งตะวันตกอีก ๑๕ แห่ง หากนับตามปริมาณพื้นที่ นับเป็นนิมิตหมายที่ดีในการรักษาทรัพยากรให้ยั่งยืน แต่อุทยานแห่งชาติทางทะเลได้ประกาศแนวเขตครอบคลุมผืนน้ำเข้าไปด้วย เมื่อเป็นผืนน้ำซึ่งเป็นแห่งทำการประมงหาอยู่หากินมาแต่เดิม กลายเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ทำให้ที่อยู่อาศัยและที่ดินของชาวประมงพื้นบ้านที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิรับรองผิดกฎหมายอุทยาน การจับสัตว์น้ำในทะเลของชาวประมงพื้นบ้านเป็นสิ่งผิดกฎหมายในทันที รวมถึงวิถีการพักพิงเกาะเพื่อทำการประมง ทั้งที่เป็นกลุ่มชาวเลและชาวประมงเชื้อสายมาลายูก็กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ในทางกลับกันกลับเกิดกรณีปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติให้แก่กลุ่มนายทุนโดยมิชอบ เกิดขึ้นจำนวนมาก เกิดกรณีการจับกุมชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดระนอง และจังหวัดพังงาซึ่งกำลังทำอวนลอยกุ้ง, กรณีชาวประมงพื้นบ้านเกาะลันตา ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯยิงปืนขับไล่ ขณะกำลังทำการประมง, และกรณีบุกเผาทับชาวประมงหรือที่พักของชาวประมงพื้นบ้านบนเกาะไม้ไผ่และเกาะพีพี เป็นต้น ภายใต้ปัญหาดังกล่าว หน่วยงานของรัฐบาลเองเริ่มตระหนัก เกิดแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น โดยทางกรมอุทยานแห่งชาติได้มีนโยบายในปี ๒๕๔๕ ให้มีการผ่อนผันให้ชาวประมงทำการประมงในเขตอุทยานได้ โดยต้องไม่กระทำผิด พ.ร.บ.การประมง ปี ๒๔๙๐ แต่ในระยะยาวจะต้องดำเนินการปรับปรุงแนวเขตอุทยานโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติและกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ ๔ ฉบับ ภายใต้ทางเลือกในการจัดการทรัพยากรใหม่ๆ ๓.๔ ปัญหาโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง ท่าเทียบเรือ การทำลายพื้นที่ชายฝั่ง การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง เช่น การก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก การขุดลอกร่องน้ำเพื่อการเดินเรือขนาดใหญ่ในทะเล ท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยว เขื่อนกั้นตลิ่งและกันคลื่น โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ มีผลกระทบโดยตรงในการทำลายทรัพยากร จากการขุดทำลาย ขนย้าย ตะกอนทับถม น้ำเสีย ฯลฯ เช่น การขุดลอกร่องน้ำที่ ต.เกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่, ท่าเทียบเรือและแนวกันคลื่นที่ ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา, ท่าเทียบเรือน้ำลึก จ.สงขลา, ท่าเทียบเรือ อ.จะนะ จ.สงขลา, ท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล, ท่าเทียบเรือน้ำลึกและการขุดลอกร่องน้ำที่เกาะลันตา จ.กระบี่ แม้ว่าการเกิดขึ้นของแต่ละโครงการจะอ้างเหตุผลเพื่อการพัฒนา แต่ปัจจุบันกลับมีโครงการลักษณะดังกล่าวมากขึ้นและกระจายอยู่ทั่วไปในภาคใต้ และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีผลในการทำลายทรัพยากรชายฝั่ง และชุมชนท้องถิ่น โดยที่ทุกโครงการชุมชนท้องถิ่นไม่มีโอกาสในการมีส่วนร่วมให้ความคิดเห็นและตัดสินใจ
(๔) สรุปสภาพปัญหา และหนทางชาวประมงพื้นบ้าน ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลนี่เอง ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านซึ่งมีวิถีชีวิต พึงพิง หาอยู่หากินกับทรัพยากร ต้องยากจนแร้นแค้นลงเรื่อยๆ ปัจจุบันค่าครองชีพ ค่าอุปกรณ์และน้ำมันเครื่องยนต์ที่ถีบตัวสูงขึ้น ยิ่งทำให้เส้นทางของชาวประมงพื้นบ้านตีบตันลงทุกที การจับสัตว์น้ำให้ได้มากที่สุดเท่าที่กำลังการจับของเครื่องมือชนิดต่างๆสามารถที่จับได้ เพื่อเป็นสินค้าส่งออกอาจตอบสนองการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและรายได้ประชาชาติของประเทศก็จริง แต่ไม่สามารถตอบสนองความเท่าเทียม ความปลอดภัยของผู้บริโภค และไม่สามารถเป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหารของสังคมเราเองในอนาคต ประกอบกับกระแสสังคมบริโภคทุนนิยมเสรีที่รุนแรงในปัจจุบัน ทำให้ เยาวชน คนหนุ่มสาวในหมู่บ้านชาวประมงจำนวนมาก ละทิ้งอาชีพดั้งเดิมไปใช้ชีวิตในเมืองเป็นแรงงานในโรงงาน เพื่อรับค่าตอบแทนรายเดือน ทั้งที่เงินเดือนแทบไม่พอใช้ เพราะระบบคิดที่สังคมเชื่อว่าถ้าเป็นชาวประมงในทะเล คือความลำบาก ล้าหลัง ยากจน การเป็นแรงงานอยู่ในเมือง คือผู้เจริญ สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้เห็นว่าถ้าทรัพยากรถูกจัดการอย่างเป็นธรรม ไม่มีเครื่องมือทำลาย ผู้คนที่การทำประมงแบบพื้นบ้านก็จะไม่ยากจนอย่างที่เข้าใจ กลับสามารถใช้ชีวิตอย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรีและเป็นผู้เจริญได้ คำกล่าวของ ชาวประมงพื้นบ้านจากจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นจังหวัดที่ได้ชื่อว่า ชาวประมงพื้นบ้านยากจนที่สุดในประเทศไทยว่า "เราไม่มีเงินเดือนจากรัฐเหมือนข้าราชการ ไม่ได้รับเงินจากนายจ้างเหมือนลูกจ้าง แต่เราได้รับเงินเดือนจากทะเล เมื่อทะเลเสื่อมโทรม เราก็ไม่ได้เงินเดือน ไม่มีรายได้... ทะเลก็เหมือนหม้อข้าวเรา เราไม่รักษาหม้อข้าวตัวเอง แล้วใครจะช่วยรักษา" เสียงเรียกร้องจากชาวประมงพื้นบ้านได้ก่อให้เกิดกระแสการอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง ชาวประมงพื้นบ้านจำนวนมากพร้อมใจกันเลิกทำประมงด้วยเครื่องมือทำลายทรัพยากร หันมามุ่งมั่นรักษาทะเล ฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง ปกป้องทะเลจากการทำลายจากคนภายนอกชุมชน เกิดกิจกรรมวางซั้ง วางปะการังเทียมเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรเกิดขึ้นในชุมชนชาวประมงพื้นบ้านมากว่ายี่สิบปี บ้างก็คิดวิธีเก็บหอมรอมริบจนกลายเป็นกลุ่มออมทรัพย์ หวังปลดหนี้สินในอนาคต หลายชุมชนรักษาป่าชายเลนในรูปแบบป่าชุมชน ปรากฏการณ์วิกฤติทางทะเลได้บ่งชี้ให้เห็นว่า ปัญหาวิกฤติของทรัพยากรทะเลไทย ไม่ใช่เรื่องของชาวประมงเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่คนในสังคมไทยต้องหันมาสนใจ ห่วงใย และเอาใจใส่ในการแก้ปัญหากันอย่างจริงจัง... และชาวประมงพื้นบ้านเองก็ไม่งอมืองอเท้ารอการช่วยเหลือ แต่กลับมุ่งมั่นแก้ปัญหาตนเอง นับเป็น ฝันอันยิ่งใหญ่ของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนชายฝั่ง ที่รอการสนับสนุน ส่งเสริมจากเราๆ ท่านๆ...ในอนาคต... (๕) ข้อเสนอ สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ได้เคยเสนอไว้ว่า ควรมีโยบายที่เป็นรูปธรรม และมีมาตรการที่จะนำไปสู่การกู้ และฟื้นฟูทะเล อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาของชาวประมงและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทะเล ทั้งระบบดังนี้
๑. ยกเลิกเครื่องมือการประมงที่ทำลายล้างทุกชนิดโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะ อวนรุน อวนลากเรือปั่นไฟปลากะตัก โดยต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด จริงจัง มีบุคลากร งบประมาณที่เพียงพอการแก้ไขปัญหา ๒. ปรับปรุงเป้าหมายการใช้ทะเลจากเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เป็นเพื่อฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของทะเล และฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพ โดยตระหนักถึงความเกี่ยวพันของระบบนิเวศน์ทะเลซึ่งต่างจากเส้นแบ่งตามเขตการปกครอง ๓. ฟื้นฟูป่าชายเลนโดยให้ชุมชนมีส่วนในการจัดการดูแลรักษา ในรูปแบบป่าชายเลนชุมชน สนับสนุนการออกพระราชบัญญัติป่าชุมชน ตามเนื้อหาและเจตนารมณ์ของประชาชน ปรับปรุงพื้นที่ประกอบอาชีพของชาวประมงพื้นบ้าน โดยการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรริมฝั่งทะเลและแหล่งอาศัยและเพาะพันธ์สัตว์น้ำ เช่น การวางปะการังเทียม วางทุ่นแนวเขตอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล รวมทั้งให้องค์กรและชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง และทรัพยากรประมง ๔. ปฏิรูประบบการทำงานของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับทะเล โดยเปลี่ยนบทบาทหน่วยงานราชการจากผู้กำหนดนโยบายและกุมอำนาจในการบริหารจัดการ ไปเป็นผู้สนับสนุนให้ภาคประชาชนเป็นองค์กรในการดูแลรักษาทะเล และมีอำนาจการบริหารจัดการร่วมกันระหว่างรัฐและประชาชน ทั้งนี้หน่วยงานราชการต้องมีเป้าหมายการทำงานร่วมกัน ขจัดการทำงานที่ซ้ำซ้อน มีการประสานงาน ๕. ปฏิรูปพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ โดยจัดให้มีกระบวนการยกร่างกฎหมายประมงใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วม กระจายอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากร การเคารพสิทธิของชุมชนท้องถิ่น การเสริมสร้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและมาตรการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทะเลและวิถีชีวิตของท้องถิ่น ๖. ดำเนินการปฏิรูปกฎหมายการป่าไม้ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ๔ ฉบับ คือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ๒๕๐๔ พ.ร.บ.ป่าไม้ ๒๔๘๒ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ๒๕๐๗ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ๒๕๓๕ ๗. ทบทวน และวางแผนยุทธศาสตร์พัฒนาภาคใต้ใหม่ทั้งระบบ โดยจัดการอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ30 มกราคม 2565 เวลา 07:47

    Emperor Casino Review - Play For Real Money
    Emperor Casino is 제왕카지노 a safe and secure หารายได้เสริม online casino. Enjoy over 400 games including slots, blackjack, roulette, live dealer games,  Rating: 2 · ‎Review septcasino by Shootercasino

    ตอบลบ