วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2552

การเลี้ยงหอยมุก

การเลี้ยงหอยมุกมีขั้นตอนดังนี้
1. การเตรียมหอยมุก ( host shell) หอยมุกที่นำมาสอดใส่นิวเคลียสต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 2 ปี หอยที่มีอายุน้อยอาจมีอันตรายระหว่างการผ่าตัดสอดใส่นิวเคลียสได้ หอยที่มีขนาดเล็กเกินไปต้องนำมาเลี้ยงไว้ให้มีขนาดที่เหมาะสมเสียก่อน อย่างไรก็ตามขนาดของนิวเคลียสที่สอดใส่ก็ต้องขึ้นอยู่กับขนาดของตัวหอย บริเวณที่สอดใส่นิวเคลียสลงไปมี 2 แห่ง คือ ในอวัยวะสืบพันธุ์และบริเวณ
ระหว่างตับ ( liver) กับผิวตัวของหอยทั้งสองบริเวณนี้เป็นบริเวณที่หอยไม่ระคายเคือง และไม่ทำให้การดำรงชีวิตของหอยผิดปกติบริเวณแรกเป็นบริเวณที่นิยมสอดใส่นิวเคลียสมากที่สุด แต่ถ้าอวัยวะนั้นมีไข่หรืออสุจิอยู่เต็มจะทำการสอดใส่นิวเคลียสได้ยากและไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ดังนั้นเวลาที่เหมาะสมในการสอดใส่นิวเคลียสคือตอนที่วางไข่ใหม่ ๆ เพราะเนื้อเยื่อสืบพันธุ์จะอ่อนนุ่ม การสอดใส่นิวเคลียสในอวัยวะสืบพันธุ์จะให้ผลดีที่สุด ด้วยเหตุนี้ผู้เลี้ยงจึงหาวิธีการควบคุมให้หอยมุกอยู่ในสภาพที่เหมาะสมดังกล่าวได้ 2 วิธีด้วยกัน คือ
1.1 กระตุ้นให้หอยปล่อยไข่และอสุจิทำได้โดยใส่หอยไว้ในภาชนะทึบแสง แล้วหย่อนในน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติถ้าสภาวะดังกล่าวเหมาะสมอวัยวะสืบพันธุ์ของหอยจะเจริญอย่างรวดเร็วแล้วจึงกระตุ้นให้หอยปล่อยไข่และอสุจิ โดยการเปลี่ยนระดับการแขวน
1.2 ยับยั้งการเจริญเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์ ทำได้ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม เมื่อหอยมุกวางไข่ตามธรรมชาติแล้วจึงเริ่มทำการยับยั้งการเจริญโดยให้หอยอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติ
การสอดแกนมุกหรือใส่นิวเคลียส
การเลือกนิวเคลียสที่เหมาะสม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกหาวัสดุที่เหมาะสมคือ 1. เมื่อสอดใส่วัสดุนั้นแล้วหอยสามารถผลิตสารมุกได้ตามปกติ 2. หอยยอมรับวัสดุนั้นไว้โดยไม่คายออก 3. วัสดุนั้นมีคุณสมบัติทางฟิสิกส์และเคมีที่เหมาะสม เช่น ไม่มีพิษต่อหอย ตลอดจนมีน้ำหนักและคุณสมบัติอื่นใกล้เคียงไข่มุกธรรมชาติ 4. วัสดุนั้นต้องมีราคาไม่สูงนัก สามารถหาได้ง่าย และหาได้มากตามที่ต้องการ หอยมุกจะสามารถสร้างมุกได้ถ้าใช้ เงิน แก้ว เหล็กกล้า และเปลือกหอยบางชนิดเป็นนิวเคลียส แต่นิวเคลียสที่ทำจากเปลือกหอยใช้การได้ดีที่สุด ทั้งนี้เพราะมีความถ่วงจำเพาะ ความแข็งและมีคุณสมบัติอื่นใกล้เคียงไข่มุก
วิธีการทำนิวเคลียสก็คือ ตัดเปลือกหอยที่จะใช้ทำนิวเคลียสออกเป็นรูปสี่เหลียมลูกเต๋า แล้วฝนให้กลมเกลี้ยงภายหลังไม่จำเป็นต้องขัดจนขึ้นเงาขนาดของนิวเคลียสมีหลายขนาดตั้งแต่ 2.5 มม. จนถึง 7 มม. แล้วแต่ความต้องการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของหอย
การเตรียมชิ้นแมนเติล ( mantle)
ชิ้นแมนเติล ( mantle) ที่ใช้วางไว้บนนิวเคลียสต้องรีบนำไปวางบนนิวเคลียสทันทีในขณะนี้เซลล์ของชิ้นแมนเติล ยังมีชีวิตอยู่ การตัดชิ้นแมนเติล ต้องใช้ทักษะและความระมัดระวังมาก ใช้มีดคม ๆ เปิดฝาหอยมุกออกโดยตัดกล้ามเนื้อยึดฝาหอย ( adductor) แล้วจึงตัดแมนเติลขนาดแถบกว้าง 2-3 มิลลิเมตร โดยไม่ให้เซลล์ได้รับความกระทบกระเทือน ข้อสำคัญคือ อย่าให้เซลล์บุผิว ( epithelia cell) ถูกทำลายแล้วนำแมนเติลตรงส่วน palial line ที่ตัดมาได้นั้นจะนำมาตัดอีกครั้งหนึ่งออกมาเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาด 2-3 ตร.มม. ทั้งนี้ขึ้นกับขนาดของนิวเคลียส โดยประมาณให้ชิ้นแมนเติล คลุมพื้นที่ 1 ใน 2 ของนิวเคลียส ชิ้น amntle นี้ ถ้ารักษาไว้ในที่ชื้นด้วยน้ำทะเล และควบคุมอุณหภูมิให้ได้ระหว่าง 17-22 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 2 ชั่วโมง โดยที่เซลล์ไม่ตายแมนเติลจากหอย 1 ตัว สามารถตัดเป็นชิ้นแมนเติลได้ประมาณ 12-15 ชิ้น
การตรียมหอยก่อนสอดใส่นิวเคลียสหรือแกนมุก
นำหอยที่จะทำการสอดใส่นิวเคลียสขึ้นจากน้ำไว้ในที่ร่ม รอจนหอยเปิดฝาออก แล้วรีบเอาลิ่มไม้สอดใส่เข้าระหว่างฝาทั้งสองโดยไม่ให้เป็นอันตรายต่อตัวหอย
การผ่าตัดสอดใส่นิวเคลียส เมื่อจะทำการสอดใส่นิวเคลียสนำหอยที่สอดลิ่มไว้มาตรึงไว้กับที่ยึด ( clamp) เตรียมนิวเคลียสชิ้นแมนเติลและอุปกรณ์จำเป็นต่าง ๆ ให้พร้อม และจึงเปิดส่วนแมนเติลของหอยที่จะนำมาสอดใส่นิวเคลียสออก ตัดบริเวณที่จะสอดใส่นิวเคลียสให้เป็นช่อพอที่จะวางนิวเคลียสลงได้ บริเวณที่เหมาะสมที่สุดคืออวัยวะสืบพันธุ์ การผ่าตัดต้องระวังอย่าให้กระทบกระเทือนต่ออวัยวะข้างเคียง จำนวนนิวเคลียสที่จะใส่ในแต่ละตัวขึ้นอยู่กับขนาดของนิวเคลียสและขนาดของหอย หอยหนึ่งตัวสามารถสอดใส่นิวเคลียสขนาดเล็กว่า 3 มม. ได้ 2-5 อันถ้านิวเคลียสใหญ่กว่านั้นให้ใส่ตัวละ 1 อัน
ในประเทศแถบหนาว การใส่นิวเคลียสต้องทำระหว่างฤดูใบไม้ร่วม ส่วนในฤดูร้อนและฤดูฝนเป็นฤดูที่ไม่เหมาะสม ถ้าการใส่นิวเคลียสเป็นไปอย่างถูกต้องและด้วยความชำนาญ ชิ้น mantle จะเจริญจนหุ้มนิวเคลียสไว้ทั้งหมด หรือได้ถุงมุก ( pearl sac) ภายใน 7-10 วัน และสามารถผลิตสารมุกออกมาเคลือบนิวเคลียสได้
การพักฟื้นและการเลี้ยง นำหอยที่ใส่นิวเคลียสแล้วมาใส่ในตะกร้าลวดขนาด 68.60.30 ลบ.ซม. ตะกร้าละ 50-60 ตัว แล้วแขวนไว้ใต้แพไม่ให้มีการรบกวนหอย สักประมาณ 4-6 สัปดาห์ เพื่อเป็นการพักฟื้นหลังจากผ่าตัด แล้วจึงนำหอยขึ้นมาทำความสะอาด คัดเลือกหอยที่ตายทิ้งไป แล้วใส่หอยลงในตะกร้าอีกใบหนึ่ง นำไปแขวนใต้แพเป็นการถาวรต่อไป โดยแยกวิธีการเลี้ยงออกเป็น 2 วิธี คือ
1. การเลี้ยงในตะกร้าลวด แล้วแขวนไว้ใต้แพ แพที่ใช้อาจทำจากไม้ไผ่ หรือท่อนไม้ โดยทำเป็นแพเล็ก ๆ หลาย ๆ แพมาต่อกัน (ขนาด 6.4 x5.5 ตร.ม. สำหรับแพทำจากท่อนไม้ และขนาด 9 x10 ตร.ม. สำหรับแพไม้ไผ่) เพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้าย ตะกร้าควรมีขนาด 70x45 ตร.ซม. ตะกร้าแต่ละใบใส่หอยได้ประมาณ 60 ตัว ผูกตะกร้าเข้ากับเชือกยาวประมาณ 9-12 เมตร แล้วแขวนตะกร้าไว้ในน้ำที่ระดับลึก 2-3 เมตรเท่านั้น ความยาวเชือกที่เหลือสำหรับหย่อนตะกร้าลงให้ลึกกว่าปกติเพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นพิษของมวลน้ำที่เกิดจากแพลงค์ตอนชนิดหนึ่ง ( red tide) หรืออุณหภูมิผิวน้ำไม่เหมาะต่อการเจริญของหอย หรือเมื่อฝนตกหนักความเค็มผิวน้ำต่ำลงกว่าปกติ
2. การเลี้ยงโดยวิธีห้อยแขวนใช้เชือกร้อยห้อยไว้เป็นระยะ ๆ แล้วแขวนไว้ใต้แพหรือทุ่นลอย (ซึ่งมีความทนทานมากกว่าแพ) การร้อยเชือกทำได้โดยเจาะส่วน umbo หรือส่วนเปลือกที่หนาให้เป็นรูปแล้วใช้เชือกร้อยไว้
การเลี้ยงแบบนี้มีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน คือ การเลี้ยงแบบตะกร้ามีศัตรูน้อยกว่าเลี้ยงแบบแขวนด้วยเชือก แต่ได้รับอาหารน้อยกว่า เพราะมีสาหร่ายและเพรียงเกาะตามตะแกรง น้ำถ่ายเทไม่สะดวกเท่าแบบแขวน จึงต้องนำตะกร้าเลี้ยงหอยขึ้นมาทำความสะอาด กำจัดสาหร่าย เพรียง และศัตรูอื่น ๆ เสมอ ๆ เพื่อให้หอยเจริญได้อย่างปรกติตลอดเวลา
การควบคุมเพื่อให้ได้ไข่มุกที่มีคุณภาพ
อัตราการเจริญเติบโตของไข่มุกหรือมุกบนนิวเคลียสตลอดจนคุณภาพของไข่มุกขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของน้ำในแหล่งเลี้ยงหอยมุกนั้น การที่หอยมุกมีการเจริญเติบโตสูงจะทำให้ได้ไข่มุกคุณภาพต่ำในทำนองเดียวกันการเจริญเติบโตของหอยมุกช้า ๆ จะทำให้ได้ไข่มุกที่สวยงาม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการผนึกกันระหว่างแคลเซียมและโปรตีนซึ่งตามปกติไข่มุกประกอบด้วยสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนตถึง 95% และโปรตีน 5% ในขณะที่อุณหภูมิเหมาะสมสำหรับการเติบโต เช่น ในฤดูร้อน แม้ว่าจะช่วยให้ไข่มุกมีขนาดใหญ่ขึ้นตามไปด้วย แต่ก็ขาดความแวววาวเพราะพบว่ามีส่วนประกอบของโปรตีนสูงกว่าในฤดูหนาวทำให้การหักเหของแสงผ่านผลึกแคลเซียมคาร์บอเนต และโปรตีนไม่ดีพอเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวหรือนำหอยไปไว้ในที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต แคลเซียมคาร์บอเนตและโปรตีนซึ่งมีปริมาณลดลงจะผนึกกันแน่นเข้าทำให้มีการหักเหของแสงดีขึ้น ส่งให้เกิดประกายแวววาวสวยงาม ผู้เลี้ยงสามารถควบคุมการเจริญเติบโตของหอยมุกและไข่มุกได้โดยการเคลื่อนย้ายสถานที่เลี้ยง โดยในระยะแรกเลี้ยงในที่ที่ทำให้หอยเจริญเติบโตได้ดี แล้วจึงย้ายไปยังที่ที่ทำให้การเจริญเติบโตช้าก็จะได้มุกที่มีคุณภาพดีภายหลัง
การเก็บไข่มุก
หอยมุกที่เลี้ยงจะทำการเก็บไข่มุกได้หลังจากเลี้ยงไปได้ 2-4 ปี หอยมุกที่เลี้ยงไว้นานปีจะให้ไข่มุกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและสวยงามขึ้น แต่การเลี้ยงไว้นานเกินไป (เกิน 5 ปีขึ้นไป) หอยมุกจะคายไข่มุกออกโดยผู้เลี้ยงต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยไม่ได้รับผลตอบแทนแต่อย่างไร
ช่วงที่ต้องเก็บไข่มุกก็เป็นช่วงที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง เนื่องจากความงดงามของไข่มุกมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสภาพแวดล้อมดังได้กล่าวแล้วในข้อ 4 ดังนั้นผู้เลี้ยงหอยมุกควรเก็บไข่มุกในช่วงปลายฤดูหนาว ระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์
วิธีเก็บไข่มุกในประเทศญี่ปุ่น ใช้วิธีตัดเนื้อหอยออกมาแล้วนำมาแยกเอาไข่มุกภายหลังโดยมีวิธีการย่อ ๆ ดังนี้ นำหอยที่จะทำการเก็บไข่มุกมาตัดกล้ามเนื้อยึดฝาหอยออก เปิดฝาหอยนำส่วนเนื้อหอยทั้งหมดออกมาแล้วแยกส่วนกล้ามเนื้อยึดฝาหอยออกเพื่อใช้รับประทานนอกนั้นนำไปใส่รวมกันไว้ในอ่างใช้มือขยำเนื้อหอยให้เละ นำไปใส่ในถังน้ำทะเลซึ่งผสมปูนขาวเล็กน้อย คนให้เนื้อหอยกระจาย ไข่มุกจะแยกหลุดออกจากเนื้อหอย นำไข่มุกมาล้างทำความสะอาดด้วยน้ำทะเล นำมาขัดโดยใช้เกลือในปริมาณเท่ากับปริมาณไข่มุกอีกครั้งแล้วเช็ดให้แห้ง จากนั้นจึงนำไข่มุกที่ได้มาคัดเลือกแยะแยกขนาดต่อไป
การสอดใส่แกนมุกซ้ำ ( reinsertion of nucleus)
การสอดใส่แกนมุกซ้ำอีกครั้งสามารถทำได้หลังการเก็บเกี่ยวไข่มุก ไข่มุกที่ได้จากการใส่แกนมุกในครั้งก่อนจะถูกนำออกมาจากตัวหอยอย่างระมัดระวังโดยผ่านช่องผ่าเล็ก ๆ ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบไข่มุกที่ได้ ถ้าเป็นไข่มุกคุณภาพดีจะสอดใส่แกนมุกอันใหม่ที่มีขนาดเท่ากับไข่มุกที่เก็บได้ใส่ลงไปในช่องผ่าตัดเดิม โดยไม่ต้องใส่ชิ้นกราฟ ทิชชูลงไปอีก เนื่องจากถุงมุกได้ถูกสร้างขึ้นมาเรียบร้อยแล้วและขั้นตอนนี้ก็ไม่ต้องกระตุ้นให้หอยพร้อมที่จะทำการสอดใส่แกนมุกด้วยแต่ถ้าไข่มุกที่เก็บได้มีคุณภาพเลวหรือรูปร่างไม่ดี หอยมุกตัวนั้นจะถูกนำไปทำมุกครึ่งวงกลม ( ahlf pearl) หรือถูกกำจัดออกไป
การผลิตไข่มุกครึ่งวงกลม
ไข่มุกครึ่งวงกลม หรือไข่มุกครึ่งซีก ( half pearl) เป็นมุกเลี้ยงที่มีรูปทรงคล้ายกระดุมนิยมใช้หอยมุกชนิดกัลปังหา ( Pteris penguin) ส่วนหอยมุกจาน ( Pinctadamaxima) และหอยมุกขอบดำ ( P. margaritifera) ก็ถูกนำมาใช้ผลิตไข่มุกครึ่งวงกลมเช่นกัน ไข่มุกครึ่งวงกลมนี้มีราคาต่ำกว่าไข่มุกชนิดกลม แต่ก็สามารถทำรายได้จำนวนมากให้กับฟาร์มเลี้ยงหอยมุกได้ หอยมุกที่คายแกนมุกหรือหอยที่มีอายุมากเกินไปทำให้มีระยะเวลาที่ใช้ในการผลิตมุกสั้นไม่นานพอสำหรับการผลิตไข่มุกกลมหรือหอยที่ไม่เหมาะสมในการผลิตมุกกลมจะถูกนำมาผลิตไข่มุกครึ่งซีก
แกนมุกของไข่มุกครึ่งซีกมักจะเป็นรูปครึ่งวงกลม แต่บางครั้งก็มีรูปร่างแตกต่างกันออกไป เช่น รูปหยดน้ำ รูปหัวใจ เป็นต้น แกนมุกส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพลาสติก หรือเรซิน ( rasin)
วิธีการทำคล้ายคลึงกับการทำไข่มุกชนิดกลมแต่ง่ายกว่า จะแตกต่างกันก็ตรงที่แกนมุกรูปครึ่งวงกลมด้วยกาวน้ำชนิดพิเศษที่เปลือกหอยด้านในระหว่างแมนเติล ( mantle) กับเปลือกหอยชั้นใน ( nacreous layer) ดำเนินการโดยสอดลิ่มไม้ไว้ระหว่างเปลือก ค่อย ๆ พลิกเนื้อเยื่อแมนเติลไปด้านหลัง จะมองเห็นส่วนหน้าของเปลือกมุกบริเวณที่เรียบเสมอกัน และมีความแวววาวสุกใส ใช้ผ้าเนื้อนิ่มหรือสำลีเช็ดบริเวณนี้ให้แห้ง แล้วติดแกนมุกลงไปด้วยกาวชนิดพิเศษ ซึ่งป้องกันน้ำและแห้งเร็ว เช่น ไซยาโนแอคไครลาเตส ( Cyanoaccrylates) แต่ละฝาสามารถติดแกนมุกได้อย่างน้อย 3 จุดจากนั้นพลิกแมนเติลกลับมาวางทับเม็ดพลาสติกไว้แล้วนำไปปล่อยเลี้ยงไว้ในทะเลประมาณ 7-8 เดือน หรือ 1 ปี หอยจะค่อย ๆ เคลือบแกนมุกเมื่อเคลือบหนาขึ้นก็จะได้ไข่มุกครึ่งวงกลม เวลาเก็บจะใช้เลื่อย ๆ เปลือกให้เป็นรูปแล้วจึงแกะมุกออกมา เวลาขายส่วนใหญ่จะแกะแกนมุกออกก่อน แกนมุกนี้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก
ปัจจัยในการเลี้ยงหอยมุก
1. การเลือกสถานที่ ฟาร์มหอยมุกควรตั้งอยู่ในแหล่งที่มีกำลังคลื่นลมได้ตลอดปี หรือสามารถเคลื่อนย้ายไปหาที่กำบังได้สะดวก เป็นที่ที่น้ำทะเลมีความเค็มสูงคงที่ตลอดปี ระดับน้ำควรจะมีความลึกไม่ต่ำกว่า 10 เมตร และมีน้ำใสสะอาด แหล่งนั้นควรจะอยู่ห่างจากปากแม่น้ำหรือไกลจากโรงงานอุตสาหกรรม และมีความปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย หรือสามารถจัดหาคนเฝ้าได้สะดวก
2. คุณสมบัติของน้ำ สภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการเจริญเติบโตของหอยมุกและคุณภาพของไข่มุก คือ อัตราการเจริญเติบโตของหอยมุกสูงจะทำให้ได้ไข่มุกที่มีคุณภาพต่ำ และในทางตรงกันข้ามการเจริญเติบโตอย่างช้า ๆ จะได้ไข่มุกที่สวยงาม
โดยปกติในประเทศไทยควรมีคุณสมบัติน้ำดังนี้ - อุณหภูมิน้ำ 26-31 องศาเซลเซียส - อุณหภูมิอากาศ 25-33 องศาเซลเซียส - ความเค็มของน้ำ 30-34 ppt. - pH 7.8-8.7 - DO 5-9 mg/l
การคัดเลือกหอยมุก
ก่อนที่จะนำหอยมุกไปสอดใส่นิวเคลียส เพื่อเลี้ยงไข่มุกนั้น มีความจำเป็นต้องคัดเลือกหอยมุกเสียก่อน เนื่องจากหอยมุกแต่ละตัวให้น้ำมุกผิดกัน บางตัวให้น้ำมุกน้อยเกินไป หอยบางตัวมีความอ่อนแอ เมื่อใส่นิวเคลียสเข้าไปมันอาจตายได้ เพราะเหตุนี้จึงต้องทำการคัดเลือกก่อน ในการคัดเลือกนั้นมีหลักสำคัญดังนี้
1. ชนิดของหอย หอยมุกชนิดต่าง ๆ กัน มีคุณสมบัติในการให้ชั้นมุกที่มีคุณภาพไม่เหมือนกัน อาจสังเกตลักษณะชั้นมุกที่เปลือกหอย หอยมุกที่จะนำมาใช้เลี้ยงมุกนั้นควรเป็นหอยที่เปลือกมีชั้นมุก ( nacreus layer) ที่มีความหนามากพอสมควร ลักษณะของชั้นมุกมีความแวววาวสวยงามดี สำหรับในเมืองไทย กล่าวกันว่าหอยมุกจานเป็นหอยที่ให้มุกได้สวยงามที่สุด
2. คัดขนาดและอายุของหอย ขนาดที่เหมาะสม คือ 4-8 นิ้ว (หอยมุกจาน) ถ้าขนาดเล็กเกินไปทำให้ใส่นิวเคลียสได้ขนาดเล็ก มุกที่ได้ก็จะมีขนาดเล็กเกินไป ส่วนหอยที่ขนาดใหญ่เกิดไปอาจหมายถึงหอยที่มีอายุมากเกินไป ไม่เหมาะที่จะนำมาเลี้ยง หอยที่มีอายุมากหรือน้อยเกินไปจะให้น้ำมุกไม่สวยงามเท่าที่ควร โดยปกติสำหรับหอยมุกจานที่นำมาใช้ จะมีอายุระหว่าง 2-4 ปี
3. คัดเลือกหอยที่อวัยวะเพศ ( Gonad) ไม่มีน้ำเชื้อหรือไข่ไก่ เพราะการผลิตมุกกลมนั้นจำเป็นต้องใส่นิวเคลียส ( nucleus) ลงไปในบริเวณ อวัยวะเพศ ( Gonad) หากมีน้ำเชื้อหรือไข่อยู่เต็มจะทำให้ไม่สะดวกในการทำงาน และนิวเคลียสที่ใส่ลงไปอาจหลุดได้ง่าย
4. คัดเลือกหอยที่แข็งแรง ปราศจากโรค ศัตรู ( parasite) รบกวน เนื่องจากการใส่นิวเคลียสนั้นต้องผ่านการผ่าตัดหอย หอยที่ไม่แข็งแรงอาจตายได้ง่าย
5. การเตรียมหอย เมื่อรวบรวมและคัดเลือกหอยแล้วควรเลี้ยงหอยให้มีสุขภาพสมบูรณ์และทำความสะอาดเปลือกไม่ให้มีสิ่งมีชีวิตเกาะอยู่ แล้วนำไปเลี้ยงไว้ในกระบะตื้น ๆ ประมาณ 8-10 วัน เพื่อให้เคยชินและปรับตัวได้ทัน จึงนำไปกระตุ้นให้เปิดฝา ซึ่งอาจทำได้ 2 วิธีคือ 5.1 นำไปเลี้ยงรวม ๆ กันในถาดที่มีน้ำตื้น ๆ จะทำให้ก๊าซออกซิเจนในน้ำลดลง หอยจะอ้าเปลือกออกเพื่อรับออกซิเจนให้มากขึ้น 5.2 นำไปเลี้ยงไว้ในที่มีน้ำไหล ทำให้หายใจไม่ทัน หอยจะอ้าเปลือก โดยวิธีดังกล่าว หอยจะอ้าเปลือก พวกที่อ้าเปลือกแล้วใช้ลิ่มได้สอดเข้าไป นำไปใส่ถาดเพื่อเตรียมใส่นิวเคลียสต่อไป
นิวเคลียส ( Nucleus) หรือแกนที่ใช้เลี้ยงมุก
ในการทำมุกเลี้ยงแบบกลม นิวเคลียสที่จะใส่ลงไปในตัวหอยมีลักษณะเป็นเม็ดกลมทำจากเปลือกหอย นิวเคลียสแบบกลมนิยมใช้ในการเลี้ยงมุกที่สุดได้มาจากเปลือกหอยกาบน้ำจืดชนิดหนึ่งในแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ ( Mississippi ) ที่สหรัฐอเมริกา ได้แก่ หอย pig toe shell (Tritogonia) นอกจากนี้ก็มีหอย Tree ridge ( Pleurobema) และหอย Wash board (Megalonais) การใช้นิวเคลียสที่ทำจากเปลือกหอยแทนที่จะใช้พลาสติกนั้นเนื่องจากเปลือกหอยมีคุณสมบัติที่ดีหลายประการ เช่น การสะท้อนของชั้นมุกที่ดีกว่า ให้น้ำหนักที่ดีกว่า และทนต่อความร้อนได้ดีกว่าพลาสติก นอกจากนี้เปลือกหอยมีสารประกอบของแคลเซียม จึงสามารถประสานตัวกับชั้นมุกได้ดี และแน่นกว่าพลาสติก เมื่อเจาะเม็ดมุกเพื่อทำต่างหูหรือสร้อยคอ การสึกหรอในนิวเคลียสที่เป็นเปลือกหอยจะมีน้อยกว่าพลาสติก
สำหรับการทำมุกซีกสามารถใช้นิวเคลียสที่ทำจากเปลือกหอยหรือพลาสติกก็ได้ เพราะเมื่อได้มุกซีกแล้วจะต้องทำการตัดตกแต่งซึ่งนิยมแกะเอานิวเคลียสออก และเข้าขบวนการแปรรูปให้เป็นเม็ดมุกที่จำหน่ายได้ต่อไป
ปัญหาและอุปสรรคและแนวทางแก้ไข
1. โรคและศัตรูของหอยมุก ในการเลี้ยงหอยมุก มีปัญหาเกี่ยวกับโรคและศัตรูเช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ ศัตรูที่สำคัญของหอยมุกได้แก่ สาหร่าย เพรียง เพรียงหัวหอม หอยกะพง หอยแมลงภู่ พวกนี้จะเกาะบริเวณเปลือกจะคอยแย่งอาหารและปิดทางเดินของน้ำทำให้หอยมุกชะงักการเจริญเติบโตและตายได้ ศัตรูจำพวกเจาะ ( boring) ได้แก่พวก ฟองน้ำ ซึ่งเจาะอาศัยในเปลือกหอยทำให้หอยเป็นรูพรุน หรือเจาะดูดกินเนื้อหอยมุก เช่นพวกหอยฝาเดี่ยวที่เจาะดูด และศัตรูจำพวกขบกัดได้แก่ ปูชนิดต่าง ๆ ปลาปักเป้า ซึ่งสามารถขบเปลือกหอยให้แตกเพื่อกินเนื้อหอยได้
การควบคุมป้องกันศัตรูต่าง ๆ เหล่านี้ พวกสาหร่าย, เพรียง และหอยต่าง ๆ ควบคุมป้องกันได้โดยหมั่นดูแลขัดทำความสะอาด นอกจากนี้แล้วการแขวนหอยมุกที่ระดับความลึกเกิน 4 เมตร ลงไปก็สามารถลดปัญหานี้ได้ดี ศัตรูพวกฟองน้ำควบคุมป้องกันได้โดยนำหอยมุกมาแช่ในน้ำจืด หรือแช่ในน้ำเกลืออิ่มตัวนานประมาณ 15-30 นาที
2. ปัญหาสภาพแวดล้อม ได้แก่ ปัญหาน้ำเสีย หรือคุณภาพน้ำทะเลในแหล่งเลี้ยงหอยเปลี่ยนแปลงไป เกิดมลภาวะต่าง ๆ ล้วนเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้การเลี้ยงหอยมุกไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เนื่องจากการสร้างมุกที่สวยงามต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่ดีเยี่ยมเป็นปัจจัยสำคัญ
แหล่งที่มีน้ำทะเลสะอาดมีสภาพเหมาะสมที่จะทำฟาร์มมุก ควรจะมีการควบคุมหรือสงวนไว้ใช้สำหรับพัฒนาการเลี้ยงมุก ไม่ปล่อยให้ถูกรบกวนโดยกิจกรรมอื่น ๆ ของมนุษย์ได้
3. ปัญหาด้านเทคนิคการเลี้ยง การทำฟาร์มเลี้ยงมุกในประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่สามารถขยายตัวได้มากนัก ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาที่สำคัญคือการขาดความรู้ ความชำนาญด้านเทคนิคการผ่าตัดสอดใส่นิวเคลียส โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงมุกแบบกลม ซึ่งผลผลิตที่ได้ที่ผ่านมาเป็นผลงานของผู้เชี่ยวชาญการใส่นิวเคลียสซึ่งเป็นคนญี่ปุ่นทั้งสิ้น เทคนิคต่าง ๆ ถูกเก็บเป็นความลับอยู่เฉพาะในหมู่ผู้เชี่ยวชาญ แต่ปัจจุบันเริ่มมีฟาร์มหอยมุกที่มีการดำเนินการโดยคนไทย ทำการทดลองฝังนิวเคลียสเลี้ยงมุกกลมได้แล้ว แต่ยังต้องอาศัยเวลาฝึกฝนเพื่อให้ได้มุกคุณภาพเยี่ยมต่อไป
4. ปัญหาการขาดแคลนพันธุ์หอย ปัจจุบันการเลี้ยงหอยมุกในประเทศไทยอาศัยพันธุ์หอยจากธรรมชาติทั้งสิ้นในขณะที่หลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ได้ใช้พันธุ์หอยที่ผลิตได้จากโรงเพาะพันธุ์แล้ว ปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนพันธุ์หอย มีความหวังว่าจะแก้ปัญหาได้โดยการผลิตพันธุ์หอยจากโรงเพาะเพื่อทดแทนลูกพันธุ์จากธรรมชาติซึ่งนับว่าจะหายากขึ้นทุกขณะ ความสำเร็จของกรมประมงในการเพาะและอนุบาลลูกหอยมุกเศรษฐกิจหลายชนิดน่าจะเป็นหนทางให้สามารถพัฒนาการเพาะเลี้ยงหอยมุกให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

1 ความคิดเห็น:

  1. อยากได้รูปภาพการเลี้ยงหอยมุกค่ะ
    ขั้นตอนในการเลี้ยง
    วิธีการเลี้ยง
    ขอบคุณค่ะ
    nanta_309@hotmail.com

    ตอบลบ