วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2552

การเลี้ยงหอยมุก

การเลี้ยงหอยมุกมีขั้นตอนดังนี้
1. การเตรียมหอยมุก ( host shell) หอยมุกที่นำมาสอดใส่นิวเคลียสต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 2 ปี หอยที่มีอายุน้อยอาจมีอันตรายระหว่างการผ่าตัดสอดใส่นิวเคลียสได้ หอยที่มีขนาดเล็กเกินไปต้องนำมาเลี้ยงไว้ให้มีขนาดที่เหมาะสมเสียก่อน อย่างไรก็ตามขนาดของนิวเคลียสที่สอดใส่ก็ต้องขึ้นอยู่กับขนาดของตัวหอย บริเวณที่สอดใส่นิวเคลียสลงไปมี 2 แห่ง คือ ในอวัยวะสืบพันธุ์และบริเวณ
ระหว่างตับ ( liver) กับผิวตัวของหอยทั้งสองบริเวณนี้เป็นบริเวณที่หอยไม่ระคายเคือง และไม่ทำให้การดำรงชีวิตของหอยผิดปกติบริเวณแรกเป็นบริเวณที่นิยมสอดใส่นิวเคลียสมากที่สุด แต่ถ้าอวัยวะนั้นมีไข่หรืออสุจิอยู่เต็มจะทำการสอดใส่นิวเคลียสได้ยากและไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ดังนั้นเวลาที่เหมาะสมในการสอดใส่นิวเคลียสคือตอนที่วางไข่ใหม่ ๆ เพราะเนื้อเยื่อสืบพันธุ์จะอ่อนนุ่ม การสอดใส่นิวเคลียสในอวัยวะสืบพันธุ์จะให้ผลดีที่สุด ด้วยเหตุนี้ผู้เลี้ยงจึงหาวิธีการควบคุมให้หอยมุกอยู่ในสภาพที่เหมาะสมดังกล่าวได้ 2 วิธีด้วยกัน คือ
1.1 กระตุ้นให้หอยปล่อยไข่และอสุจิทำได้โดยใส่หอยไว้ในภาชนะทึบแสง แล้วหย่อนในน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติถ้าสภาวะดังกล่าวเหมาะสมอวัยวะสืบพันธุ์ของหอยจะเจริญอย่างรวดเร็วแล้วจึงกระตุ้นให้หอยปล่อยไข่และอสุจิ โดยการเปลี่ยนระดับการแขวน
1.2 ยับยั้งการเจริญเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์ ทำได้ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม เมื่อหอยมุกวางไข่ตามธรรมชาติแล้วจึงเริ่มทำการยับยั้งการเจริญโดยให้หอยอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติ
การสอดแกนมุกหรือใส่นิวเคลียส
การเลือกนิวเคลียสที่เหมาะสม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกหาวัสดุที่เหมาะสมคือ 1. เมื่อสอดใส่วัสดุนั้นแล้วหอยสามารถผลิตสารมุกได้ตามปกติ 2. หอยยอมรับวัสดุนั้นไว้โดยไม่คายออก 3. วัสดุนั้นมีคุณสมบัติทางฟิสิกส์และเคมีที่เหมาะสม เช่น ไม่มีพิษต่อหอย ตลอดจนมีน้ำหนักและคุณสมบัติอื่นใกล้เคียงไข่มุกธรรมชาติ 4. วัสดุนั้นต้องมีราคาไม่สูงนัก สามารถหาได้ง่าย และหาได้มากตามที่ต้องการ หอยมุกจะสามารถสร้างมุกได้ถ้าใช้ เงิน แก้ว เหล็กกล้า และเปลือกหอยบางชนิดเป็นนิวเคลียส แต่นิวเคลียสที่ทำจากเปลือกหอยใช้การได้ดีที่สุด ทั้งนี้เพราะมีความถ่วงจำเพาะ ความแข็งและมีคุณสมบัติอื่นใกล้เคียงไข่มุก
วิธีการทำนิวเคลียสก็คือ ตัดเปลือกหอยที่จะใช้ทำนิวเคลียสออกเป็นรูปสี่เหลียมลูกเต๋า แล้วฝนให้กลมเกลี้ยงภายหลังไม่จำเป็นต้องขัดจนขึ้นเงาขนาดของนิวเคลียสมีหลายขนาดตั้งแต่ 2.5 มม. จนถึง 7 มม. แล้วแต่ความต้องการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของหอย
การเตรียมชิ้นแมนเติล ( mantle)
ชิ้นแมนเติล ( mantle) ที่ใช้วางไว้บนนิวเคลียสต้องรีบนำไปวางบนนิวเคลียสทันทีในขณะนี้เซลล์ของชิ้นแมนเติล ยังมีชีวิตอยู่ การตัดชิ้นแมนเติล ต้องใช้ทักษะและความระมัดระวังมาก ใช้มีดคม ๆ เปิดฝาหอยมุกออกโดยตัดกล้ามเนื้อยึดฝาหอย ( adductor) แล้วจึงตัดแมนเติลขนาดแถบกว้าง 2-3 มิลลิเมตร โดยไม่ให้เซลล์ได้รับความกระทบกระเทือน ข้อสำคัญคือ อย่าให้เซลล์บุผิว ( epithelia cell) ถูกทำลายแล้วนำแมนเติลตรงส่วน palial line ที่ตัดมาได้นั้นจะนำมาตัดอีกครั้งหนึ่งออกมาเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาด 2-3 ตร.มม. ทั้งนี้ขึ้นกับขนาดของนิวเคลียส โดยประมาณให้ชิ้นแมนเติล คลุมพื้นที่ 1 ใน 2 ของนิวเคลียส ชิ้น amntle นี้ ถ้ารักษาไว้ในที่ชื้นด้วยน้ำทะเล และควบคุมอุณหภูมิให้ได้ระหว่าง 17-22 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 2 ชั่วโมง โดยที่เซลล์ไม่ตายแมนเติลจากหอย 1 ตัว สามารถตัดเป็นชิ้นแมนเติลได้ประมาณ 12-15 ชิ้น
การตรียมหอยก่อนสอดใส่นิวเคลียสหรือแกนมุก
นำหอยที่จะทำการสอดใส่นิวเคลียสขึ้นจากน้ำไว้ในที่ร่ม รอจนหอยเปิดฝาออก แล้วรีบเอาลิ่มไม้สอดใส่เข้าระหว่างฝาทั้งสองโดยไม่ให้เป็นอันตรายต่อตัวหอย
การผ่าตัดสอดใส่นิวเคลียส เมื่อจะทำการสอดใส่นิวเคลียสนำหอยที่สอดลิ่มไว้มาตรึงไว้กับที่ยึด ( clamp) เตรียมนิวเคลียสชิ้นแมนเติลและอุปกรณ์จำเป็นต่าง ๆ ให้พร้อม และจึงเปิดส่วนแมนเติลของหอยที่จะนำมาสอดใส่นิวเคลียสออก ตัดบริเวณที่จะสอดใส่นิวเคลียสให้เป็นช่อพอที่จะวางนิวเคลียสลงได้ บริเวณที่เหมาะสมที่สุดคืออวัยวะสืบพันธุ์ การผ่าตัดต้องระวังอย่าให้กระทบกระเทือนต่ออวัยวะข้างเคียง จำนวนนิวเคลียสที่จะใส่ในแต่ละตัวขึ้นอยู่กับขนาดของนิวเคลียสและขนาดของหอย หอยหนึ่งตัวสามารถสอดใส่นิวเคลียสขนาดเล็กว่า 3 มม. ได้ 2-5 อันถ้านิวเคลียสใหญ่กว่านั้นให้ใส่ตัวละ 1 อัน
ในประเทศแถบหนาว การใส่นิวเคลียสต้องทำระหว่างฤดูใบไม้ร่วม ส่วนในฤดูร้อนและฤดูฝนเป็นฤดูที่ไม่เหมาะสม ถ้าการใส่นิวเคลียสเป็นไปอย่างถูกต้องและด้วยความชำนาญ ชิ้น mantle จะเจริญจนหุ้มนิวเคลียสไว้ทั้งหมด หรือได้ถุงมุก ( pearl sac) ภายใน 7-10 วัน และสามารถผลิตสารมุกออกมาเคลือบนิวเคลียสได้
การพักฟื้นและการเลี้ยง นำหอยที่ใส่นิวเคลียสแล้วมาใส่ในตะกร้าลวดขนาด 68.60.30 ลบ.ซม. ตะกร้าละ 50-60 ตัว แล้วแขวนไว้ใต้แพไม่ให้มีการรบกวนหอย สักประมาณ 4-6 สัปดาห์ เพื่อเป็นการพักฟื้นหลังจากผ่าตัด แล้วจึงนำหอยขึ้นมาทำความสะอาด คัดเลือกหอยที่ตายทิ้งไป แล้วใส่หอยลงในตะกร้าอีกใบหนึ่ง นำไปแขวนใต้แพเป็นการถาวรต่อไป โดยแยกวิธีการเลี้ยงออกเป็น 2 วิธี คือ
1. การเลี้ยงในตะกร้าลวด แล้วแขวนไว้ใต้แพ แพที่ใช้อาจทำจากไม้ไผ่ หรือท่อนไม้ โดยทำเป็นแพเล็ก ๆ หลาย ๆ แพมาต่อกัน (ขนาด 6.4 x5.5 ตร.ม. สำหรับแพทำจากท่อนไม้ และขนาด 9 x10 ตร.ม. สำหรับแพไม้ไผ่) เพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้าย ตะกร้าควรมีขนาด 70x45 ตร.ซม. ตะกร้าแต่ละใบใส่หอยได้ประมาณ 60 ตัว ผูกตะกร้าเข้ากับเชือกยาวประมาณ 9-12 เมตร แล้วแขวนตะกร้าไว้ในน้ำที่ระดับลึก 2-3 เมตรเท่านั้น ความยาวเชือกที่เหลือสำหรับหย่อนตะกร้าลงให้ลึกกว่าปกติเพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นพิษของมวลน้ำที่เกิดจากแพลงค์ตอนชนิดหนึ่ง ( red tide) หรืออุณหภูมิผิวน้ำไม่เหมาะต่อการเจริญของหอย หรือเมื่อฝนตกหนักความเค็มผิวน้ำต่ำลงกว่าปกติ
2. การเลี้ยงโดยวิธีห้อยแขวนใช้เชือกร้อยห้อยไว้เป็นระยะ ๆ แล้วแขวนไว้ใต้แพหรือทุ่นลอย (ซึ่งมีความทนทานมากกว่าแพ) การร้อยเชือกทำได้โดยเจาะส่วน umbo หรือส่วนเปลือกที่หนาให้เป็นรูปแล้วใช้เชือกร้อยไว้
การเลี้ยงแบบนี้มีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน คือ การเลี้ยงแบบตะกร้ามีศัตรูน้อยกว่าเลี้ยงแบบแขวนด้วยเชือก แต่ได้รับอาหารน้อยกว่า เพราะมีสาหร่ายและเพรียงเกาะตามตะแกรง น้ำถ่ายเทไม่สะดวกเท่าแบบแขวน จึงต้องนำตะกร้าเลี้ยงหอยขึ้นมาทำความสะอาด กำจัดสาหร่าย เพรียง และศัตรูอื่น ๆ เสมอ ๆ เพื่อให้หอยเจริญได้อย่างปรกติตลอดเวลา
การควบคุมเพื่อให้ได้ไข่มุกที่มีคุณภาพ
อัตราการเจริญเติบโตของไข่มุกหรือมุกบนนิวเคลียสตลอดจนคุณภาพของไข่มุกขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของน้ำในแหล่งเลี้ยงหอยมุกนั้น การที่หอยมุกมีการเจริญเติบโตสูงจะทำให้ได้ไข่มุกคุณภาพต่ำในทำนองเดียวกันการเจริญเติบโตของหอยมุกช้า ๆ จะทำให้ได้ไข่มุกที่สวยงาม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการผนึกกันระหว่างแคลเซียมและโปรตีนซึ่งตามปกติไข่มุกประกอบด้วยสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนตถึง 95% และโปรตีน 5% ในขณะที่อุณหภูมิเหมาะสมสำหรับการเติบโต เช่น ในฤดูร้อน แม้ว่าจะช่วยให้ไข่มุกมีขนาดใหญ่ขึ้นตามไปด้วย แต่ก็ขาดความแวววาวเพราะพบว่ามีส่วนประกอบของโปรตีนสูงกว่าในฤดูหนาวทำให้การหักเหของแสงผ่านผลึกแคลเซียมคาร์บอเนต และโปรตีนไม่ดีพอเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวหรือนำหอยไปไว้ในที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต แคลเซียมคาร์บอเนตและโปรตีนซึ่งมีปริมาณลดลงจะผนึกกันแน่นเข้าทำให้มีการหักเหของแสงดีขึ้น ส่งให้เกิดประกายแวววาวสวยงาม ผู้เลี้ยงสามารถควบคุมการเจริญเติบโตของหอยมุกและไข่มุกได้โดยการเคลื่อนย้ายสถานที่เลี้ยง โดยในระยะแรกเลี้ยงในที่ที่ทำให้หอยเจริญเติบโตได้ดี แล้วจึงย้ายไปยังที่ที่ทำให้การเจริญเติบโตช้าก็จะได้มุกที่มีคุณภาพดีภายหลัง
การเก็บไข่มุก
หอยมุกที่เลี้ยงจะทำการเก็บไข่มุกได้หลังจากเลี้ยงไปได้ 2-4 ปี หอยมุกที่เลี้ยงไว้นานปีจะให้ไข่มุกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและสวยงามขึ้น แต่การเลี้ยงไว้นานเกินไป (เกิน 5 ปีขึ้นไป) หอยมุกจะคายไข่มุกออกโดยผู้เลี้ยงต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยไม่ได้รับผลตอบแทนแต่อย่างไร
ช่วงที่ต้องเก็บไข่มุกก็เป็นช่วงที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง เนื่องจากความงดงามของไข่มุกมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสภาพแวดล้อมดังได้กล่าวแล้วในข้อ 4 ดังนั้นผู้เลี้ยงหอยมุกควรเก็บไข่มุกในช่วงปลายฤดูหนาว ระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์
วิธีเก็บไข่มุกในประเทศญี่ปุ่น ใช้วิธีตัดเนื้อหอยออกมาแล้วนำมาแยกเอาไข่มุกภายหลังโดยมีวิธีการย่อ ๆ ดังนี้ นำหอยที่จะทำการเก็บไข่มุกมาตัดกล้ามเนื้อยึดฝาหอยออก เปิดฝาหอยนำส่วนเนื้อหอยทั้งหมดออกมาแล้วแยกส่วนกล้ามเนื้อยึดฝาหอยออกเพื่อใช้รับประทานนอกนั้นนำไปใส่รวมกันไว้ในอ่างใช้มือขยำเนื้อหอยให้เละ นำไปใส่ในถังน้ำทะเลซึ่งผสมปูนขาวเล็กน้อย คนให้เนื้อหอยกระจาย ไข่มุกจะแยกหลุดออกจากเนื้อหอย นำไข่มุกมาล้างทำความสะอาดด้วยน้ำทะเล นำมาขัดโดยใช้เกลือในปริมาณเท่ากับปริมาณไข่มุกอีกครั้งแล้วเช็ดให้แห้ง จากนั้นจึงนำไข่มุกที่ได้มาคัดเลือกแยะแยกขนาดต่อไป
การสอดใส่แกนมุกซ้ำ ( reinsertion of nucleus)
การสอดใส่แกนมุกซ้ำอีกครั้งสามารถทำได้หลังการเก็บเกี่ยวไข่มุก ไข่มุกที่ได้จากการใส่แกนมุกในครั้งก่อนจะถูกนำออกมาจากตัวหอยอย่างระมัดระวังโดยผ่านช่องผ่าเล็ก ๆ ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบไข่มุกที่ได้ ถ้าเป็นไข่มุกคุณภาพดีจะสอดใส่แกนมุกอันใหม่ที่มีขนาดเท่ากับไข่มุกที่เก็บได้ใส่ลงไปในช่องผ่าตัดเดิม โดยไม่ต้องใส่ชิ้นกราฟ ทิชชูลงไปอีก เนื่องจากถุงมุกได้ถูกสร้างขึ้นมาเรียบร้อยแล้วและขั้นตอนนี้ก็ไม่ต้องกระตุ้นให้หอยพร้อมที่จะทำการสอดใส่แกนมุกด้วยแต่ถ้าไข่มุกที่เก็บได้มีคุณภาพเลวหรือรูปร่างไม่ดี หอยมุกตัวนั้นจะถูกนำไปทำมุกครึ่งวงกลม ( ahlf pearl) หรือถูกกำจัดออกไป
การผลิตไข่มุกครึ่งวงกลม
ไข่มุกครึ่งวงกลม หรือไข่มุกครึ่งซีก ( half pearl) เป็นมุกเลี้ยงที่มีรูปทรงคล้ายกระดุมนิยมใช้หอยมุกชนิดกัลปังหา ( Pteris penguin) ส่วนหอยมุกจาน ( Pinctadamaxima) และหอยมุกขอบดำ ( P. margaritifera) ก็ถูกนำมาใช้ผลิตไข่มุกครึ่งวงกลมเช่นกัน ไข่มุกครึ่งวงกลมนี้มีราคาต่ำกว่าไข่มุกชนิดกลม แต่ก็สามารถทำรายได้จำนวนมากให้กับฟาร์มเลี้ยงหอยมุกได้ หอยมุกที่คายแกนมุกหรือหอยที่มีอายุมากเกินไปทำให้มีระยะเวลาที่ใช้ในการผลิตมุกสั้นไม่นานพอสำหรับการผลิตไข่มุกกลมหรือหอยที่ไม่เหมาะสมในการผลิตมุกกลมจะถูกนำมาผลิตไข่มุกครึ่งซีก
แกนมุกของไข่มุกครึ่งซีกมักจะเป็นรูปครึ่งวงกลม แต่บางครั้งก็มีรูปร่างแตกต่างกันออกไป เช่น รูปหยดน้ำ รูปหัวใจ เป็นต้น แกนมุกส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพลาสติก หรือเรซิน ( rasin)
วิธีการทำคล้ายคลึงกับการทำไข่มุกชนิดกลมแต่ง่ายกว่า จะแตกต่างกันก็ตรงที่แกนมุกรูปครึ่งวงกลมด้วยกาวน้ำชนิดพิเศษที่เปลือกหอยด้านในระหว่างแมนเติล ( mantle) กับเปลือกหอยชั้นใน ( nacreous layer) ดำเนินการโดยสอดลิ่มไม้ไว้ระหว่างเปลือก ค่อย ๆ พลิกเนื้อเยื่อแมนเติลไปด้านหลัง จะมองเห็นส่วนหน้าของเปลือกมุกบริเวณที่เรียบเสมอกัน และมีความแวววาวสุกใส ใช้ผ้าเนื้อนิ่มหรือสำลีเช็ดบริเวณนี้ให้แห้ง แล้วติดแกนมุกลงไปด้วยกาวชนิดพิเศษ ซึ่งป้องกันน้ำและแห้งเร็ว เช่น ไซยาโนแอคไครลาเตส ( Cyanoaccrylates) แต่ละฝาสามารถติดแกนมุกได้อย่างน้อย 3 จุดจากนั้นพลิกแมนเติลกลับมาวางทับเม็ดพลาสติกไว้แล้วนำไปปล่อยเลี้ยงไว้ในทะเลประมาณ 7-8 เดือน หรือ 1 ปี หอยจะค่อย ๆ เคลือบแกนมุกเมื่อเคลือบหนาขึ้นก็จะได้ไข่มุกครึ่งวงกลม เวลาเก็บจะใช้เลื่อย ๆ เปลือกให้เป็นรูปแล้วจึงแกะมุกออกมา เวลาขายส่วนใหญ่จะแกะแกนมุกออกก่อน แกนมุกนี้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก
ปัจจัยในการเลี้ยงหอยมุก
1. การเลือกสถานที่ ฟาร์มหอยมุกควรตั้งอยู่ในแหล่งที่มีกำลังคลื่นลมได้ตลอดปี หรือสามารถเคลื่อนย้ายไปหาที่กำบังได้สะดวก เป็นที่ที่น้ำทะเลมีความเค็มสูงคงที่ตลอดปี ระดับน้ำควรจะมีความลึกไม่ต่ำกว่า 10 เมตร และมีน้ำใสสะอาด แหล่งนั้นควรจะอยู่ห่างจากปากแม่น้ำหรือไกลจากโรงงานอุตสาหกรรม และมีความปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย หรือสามารถจัดหาคนเฝ้าได้สะดวก
2. คุณสมบัติของน้ำ สภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการเจริญเติบโตของหอยมุกและคุณภาพของไข่มุก คือ อัตราการเจริญเติบโตของหอยมุกสูงจะทำให้ได้ไข่มุกที่มีคุณภาพต่ำ และในทางตรงกันข้ามการเจริญเติบโตอย่างช้า ๆ จะได้ไข่มุกที่สวยงาม
โดยปกติในประเทศไทยควรมีคุณสมบัติน้ำดังนี้ - อุณหภูมิน้ำ 26-31 องศาเซลเซียส - อุณหภูมิอากาศ 25-33 องศาเซลเซียส - ความเค็มของน้ำ 30-34 ppt. - pH 7.8-8.7 - DO 5-9 mg/l
การคัดเลือกหอยมุก
ก่อนที่จะนำหอยมุกไปสอดใส่นิวเคลียส เพื่อเลี้ยงไข่มุกนั้น มีความจำเป็นต้องคัดเลือกหอยมุกเสียก่อน เนื่องจากหอยมุกแต่ละตัวให้น้ำมุกผิดกัน บางตัวให้น้ำมุกน้อยเกินไป หอยบางตัวมีความอ่อนแอ เมื่อใส่นิวเคลียสเข้าไปมันอาจตายได้ เพราะเหตุนี้จึงต้องทำการคัดเลือกก่อน ในการคัดเลือกนั้นมีหลักสำคัญดังนี้
1. ชนิดของหอย หอยมุกชนิดต่าง ๆ กัน มีคุณสมบัติในการให้ชั้นมุกที่มีคุณภาพไม่เหมือนกัน อาจสังเกตลักษณะชั้นมุกที่เปลือกหอย หอยมุกที่จะนำมาใช้เลี้ยงมุกนั้นควรเป็นหอยที่เปลือกมีชั้นมุก ( nacreus layer) ที่มีความหนามากพอสมควร ลักษณะของชั้นมุกมีความแวววาวสวยงามดี สำหรับในเมืองไทย กล่าวกันว่าหอยมุกจานเป็นหอยที่ให้มุกได้สวยงามที่สุด
2. คัดขนาดและอายุของหอย ขนาดที่เหมาะสม คือ 4-8 นิ้ว (หอยมุกจาน) ถ้าขนาดเล็กเกินไปทำให้ใส่นิวเคลียสได้ขนาดเล็ก มุกที่ได้ก็จะมีขนาดเล็กเกินไป ส่วนหอยที่ขนาดใหญ่เกิดไปอาจหมายถึงหอยที่มีอายุมากเกินไป ไม่เหมาะที่จะนำมาเลี้ยง หอยที่มีอายุมากหรือน้อยเกินไปจะให้น้ำมุกไม่สวยงามเท่าที่ควร โดยปกติสำหรับหอยมุกจานที่นำมาใช้ จะมีอายุระหว่าง 2-4 ปี
3. คัดเลือกหอยที่อวัยวะเพศ ( Gonad) ไม่มีน้ำเชื้อหรือไข่ไก่ เพราะการผลิตมุกกลมนั้นจำเป็นต้องใส่นิวเคลียส ( nucleus) ลงไปในบริเวณ อวัยวะเพศ ( Gonad) หากมีน้ำเชื้อหรือไข่อยู่เต็มจะทำให้ไม่สะดวกในการทำงาน และนิวเคลียสที่ใส่ลงไปอาจหลุดได้ง่าย
4. คัดเลือกหอยที่แข็งแรง ปราศจากโรค ศัตรู ( parasite) รบกวน เนื่องจากการใส่นิวเคลียสนั้นต้องผ่านการผ่าตัดหอย หอยที่ไม่แข็งแรงอาจตายได้ง่าย
5. การเตรียมหอย เมื่อรวบรวมและคัดเลือกหอยแล้วควรเลี้ยงหอยให้มีสุขภาพสมบูรณ์และทำความสะอาดเปลือกไม่ให้มีสิ่งมีชีวิตเกาะอยู่ แล้วนำไปเลี้ยงไว้ในกระบะตื้น ๆ ประมาณ 8-10 วัน เพื่อให้เคยชินและปรับตัวได้ทัน จึงนำไปกระตุ้นให้เปิดฝา ซึ่งอาจทำได้ 2 วิธีคือ 5.1 นำไปเลี้ยงรวม ๆ กันในถาดที่มีน้ำตื้น ๆ จะทำให้ก๊าซออกซิเจนในน้ำลดลง หอยจะอ้าเปลือกออกเพื่อรับออกซิเจนให้มากขึ้น 5.2 นำไปเลี้ยงไว้ในที่มีน้ำไหล ทำให้หายใจไม่ทัน หอยจะอ้าเปลือก โดยวิธีดังกล่าว หอยจะอ้าเปลือก พวกที่อ้าเปลือกแล้วใช้ลิ่มได้สอดเข้าไป นำไปใส่ถาดเพื่อเตรียมใส่นิวเคลียสต่อไป
นิวเคลียส ( Nucleus) หรือแกนที่ใช้เลี้ยงมุก
ในการทำมุกเลี้ยงแบบกลม นิวเคลียสที่จะใส่ลงไปในตัวหอยมีลักษณะเป็นเม็ดกลมทำจากเปลือกหอย นิวเคลียสแบบกลมนิยมใช้ในการเลี้ยงมุกที่สุดได้มาจากเปลือกหอยกาบน้ำจืดชนิดหนึ่งในแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ ( Mississippi ) ที่สหรัฐอเมริกา ได้แก่ หอย pig toe shell (Tritogonia) นอกจากนี้ก็มีหอย Tree ridge ( Pleurobema) และหอย Wash board (Megalonais) การใช้นิวเคลียสที่ทำจากเปลือกหอยแทนที่จะใช้พลาสติกนั้นเนื่องจากเปลือกหอยมีคุณสมบัติที่ดีหลายประการ เช่น การสะท้อนของชั้นมุกที่ดีกว่า ให้น้ำหนักที่ดีกว่า และทนต่อความร้อนได้ดีกว่าพลาสติก นอกจากนี้เปลือกหอยมีสารประกอบของแคลเซียม จึงสามารถประสานตัวกับชั้นมุกได้ดี และแน่นกว่าพลาสติก เมื่อเจาะเม็ดมุกเพื่อทำต่างหูหรือสร้อยคอ การสึกหรอในนิวเคลียสที่เป็นเปลือกหอยจะมีน้อยกว่าพลาสติก
สำหรับการทำมุกซีกสามารถใช้นิวเคลียสที่ทำจากเปลือกหอยหรือพลาสติกก็ได้ เพราะเมื่อได้มุกซีกแล้วจะต้องทำการตัดตกแต่งซึ่งนิยมแกะเอานิวเคลียสออก และเข้าขบวนการแปรรูปให้เป็นเม็ดมุกที่จำหน่ายได้ต่อไป
ปัญหาและอุปสรรคและแนวทางแก้ไข
1. โรคและศัตรูของหอยมุก ในการเลี้ยงหอยมุก มีปัญหาเกี่ยวกับโรคและศัตรูเช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ ศัตรูที่สำคัญของหอยมุกได้แก่ สาหร่าย เพรียง เพรียงหัวหอม หอยกะพง หอยแมลงภู่ พวกนี้จะเกาะบริเวณเปลือกจะคอยแย่งอาหารและปิดทางเดินของน้ำทำให้หอยมุกชะงักการเจริญเติบโตและตายได้ ศัตรูจำพวกเจาะ ( boring) ได้แก่พวก ฟองน้ำ ซึ่งเจาะอาศัยในเปลือกหอยทำให้หอยเป็นรูพรุน หรือเจาะดูดกินเนื้อหอยมุก เช่นพวกหอยฝาเดี่ยวที่เจาะดูด และศัตรูจำพวกขบกัดได้แก่ ปูชนิดต่าง ๆ ปลาปักเป้า ซึ่งสามารถขบเปลือกหอยให้แตกเพื่อกินเนื้อหอยได้
การควบคุมป้องกันศัตรูต่าง ๆ เหล่านี้ พวกสาหร่าย, เพรียง และหอยต่าง ๆ ควบคุมป้องกันได้โดยหมั่นดูแลขัดทำความสะอาด นอกจากนี้แล้วการแขวนหอยมุกที่ระดับความลึกเกิน 4 เมตร ลงไปก็สามารถลดปัญหานี้ได้ดี ศัตรูพวกฟองน้ำควบคุมป้องกันได้โดยนำหอยมุกมาแช่ในน้ำจืด หรือแช่ในน้ำเกลืออิ่มตัวนานประมาณ 15-30 นาที
2. ปัญหาสภาพแวดล้อม ได้แก่ ปัญหาน้ำเสีย หรือคุณภาพน้ำทะเลในแหล่งเลี้ยงหอยเปลี่ยนแปลงไป เกิดมลภาวะต่าง ๆ ล้วนเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้การเลี้ยงหอยมุกไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เนื่องจากการสร้างมุกที่สวยงามต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่ดีเยี่ยมเป็นปัจจัยสำคัญ
แหล่งที่มีน้ำทะเลสะอาดมีสภาพเหมาะสมที่จะทำฟาร์มมุก ควรจะมีการควบคุมหรือสงวนไว้ใช้สำหรับพัฒนาการเลี้ยงมุก ไม่ปล่อยให้ถูกรบกวนโดยกิจกรรมอื่น ๆ ของมนุษย์ได้
3. ปัญหาด้านเทคนิคการเลี้ยง การทำฟาร์มเลี้ยงมุกในประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่สามารถขยายตัวได้มากนัก ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาที่สำคัญคือการขาดความรู้ ความชำนาญด้านเทคนิคการผ่าตัดสอดใส่นิวเคลียส โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงมุกแบบกลม ซึ่งผลผลิตที่ได้ที่ผ่านมาเป็นผลงานของผู้เชี่ยวชาญการใส่นิวเคลียสซึ่งเป็นคนญี่ปุ่นทั้งสิ้น เทคนิคต่าง ๆ ถูกเก็บเป็นความลับอยู่เฉพาะในหมู่ผู้เชี่ยวชาญ แต่ปัจจุบันเริ่มมีฟาร์มหอยมุกที่มีการดำเนินการโดยคนไทย ทำการทดลองฝังนิวเคลียสเลี้ยงมุกกลมได้แล้ว แต่ยังต้องอาศัยเวลาฝึกฝนเพื่อให้ได้มุกคุณภาพเยี่ยมต่อไป
4. ปัญหาการขาดแคลนพันธุ์หอย ปัจจุบันการเลี้ยงหอยมุกในประเทศไทยอาศัยพันธุ์หอยจากธรรมชาติทั้งสิ้นในขณะที่หลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ได้ใช้พันธุ์หอยที่ผลิตได้จากโรงเพาะพันธุ์แล้ว ปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนพันธุ์หอย มีความหวังว่าจะแก้ปัญหาได้โดยการผลิตพันธุ์หอยจากโรงเพาะเพื่อทดแทนลูกพันธุ์จากธรรมชาติซึ่งนับว่าจะหายากขึ้นทุกขณะ ความสำเร็จของกรมประมงในการเพาะและอนุบาลลูกหอยมุกเศรษฐกิจหลายชนิดน่าจะเป็นหนทางให้สามารถพัฒนาการเพาะเลี้ยงหอยมุกให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

วันพุธที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2552

วัวชน

สัมพันธ์หลากหลายในสายเชือก
ข้อมูล อาคม เดชทองคำ เรื่อง วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ ภาพ : ชัยชนะ จารุวรรณากร เชือกในมือเด็กเลี้ยงวัวถูกทอดออกไป ขดกลับเข้ามา แล้วก็ทอดออกไปอีก ปลายของมันพุ่งไปในทิศทางของวัวชนกลางลานทราย แต่ไม่ถึง อย่างนี้ไม่รู้กี่เที่ยวต่อกี่เที่ยวตลอดการพันตูของ "ไอ้โหนด" คล้ายกับจะสื่อความรู้สึกจากใจคนเลี้ยงว่า "เอาให้ตายเลยไอ้โหนด"

ไอ้โหนดทดแทนใจพ่อแม่พี่น้องที่โยนมากับเชือกจูงวัว ด้วยลีลาชนอันจัดจ้าน เสยเขาทิ่มแทงคู่ต่อสู้ เสียง "ผลัวะ ๆ" ได้ยินถึงบนอัฒจันทร์ แลเห็นได้ชัดว่า "โคขาว" ฝ่ายตั้งรับกล้ามเนื้อสั่นระริกตลอดตัว อย่างนี้ราคาต่อรอง "สิบสองร้อย/ร้อย" ไม่มีใครรองความจริงตามคำบอกเล่า วัวชนไม่เคยชนกันถึงตาย (แม้กระทั่งสาหัส) มันรู้แพ้รู้ชนะตามประสาสัตว์ ที่จะตายก็คนดูนั่นละ เวลาลุ้นเมามัน คนถือเชือกกับอีกบางรายที่ใกล้ชิดเหตุการณ์ ก็จะเคลื่อนตัวเข้าใกล้วัวโดยไม่รู้ตัว จนกรรมการกลางสนามต้องเอาผ้า หรือไม้ใกล้มือไล่ฟาด พวกนั้นจึงถอยกลับด้วยท่าทีพร้อมจะเขยิบเข้าไปใหม่ทุกเวลา ชวนสงสัยว่าอะไรทำให้ต้องทุ่มเทเชียร์กันขนาดนี้ ? พอวัวชนะ บ้างก็ชูมือกระโดด...ตีลังกาลงในปลักขี้เลน แสดงอาการลิงโลด เข้าสวมกอดวัวทั้งกลิ่นคาวเลือด บางคนร่ำไห้ออกมาด้วยความหนำใจ "ได้แรงอก" ภาพต่อมาเป็นการคล้องพวงมาลัย ตกแต่งประดับประดาเขาด้วยปลอกที่มีพู่สีสดใส ตลอดจนเสื้อสามารถก็มีให้วัว ชาวบ้านร้านตลาดเห็นต้องรู้ว่า "วัวกูชนะ" โดยที่วัวไม่รู้ความหมายคุณค่าที่แท้ของสิ่งเหล่านี้เลย ด้านผู้แพ้พากันจูงออกทางด้านหลัง หน้าบอกบุญไม่รับ ชัยชนะหมายถึงเงินรางวัลตุงกระเป๋าเสื้อ กระเป๋ากางเกงเจ้าของวัว และพรรคพวก แต่ว่าไปแล้ว พิธีการประกาศชัยชนะนั้นสำคัญกว่า มีความหมายกว่าในสังคมชนวัว "ชนะ" เป็นเงินเท่าไหร่ไม่ต้องพูดถึง ขอให้ชนะเท่านั้นเป็นพอ อย่างน้อย ชัยชนะที่บ่อนบ้านเสาธงครั้งนี้ก็ทำให้ "โหนดนำโชค" วัวชาวบ้านจากลานสะกามีคนกล่าวขวัญถึงอีกนาน มีนายหัวสนใจอยากได้เป็นเจ้าของมากขึ้น และที่สำคัญสามารถทำให้มันยืนเป็นตัวหลักของวัวชน "รอบพิเศษ" ในรายการใหญ่ที่กำลังจะมาถึงได้สบาย ๆ ณ อีกมุมของบ่อนบ้านเสาธง นักเลงวัวชนคนหนึ่งเฝ้าดู "ทางชน" ของไอ้โหนดอย่างตื่นเต้น เขาเป็นเจ้าของโคขาวเพชฌฆาตจากอำเภอทุ่งใหญ่ ตื่นเต้นเพราะรู้เลยว่ามีโอกาสในการช่วงชิงชัยชนะจาก "โคโหนดนำโชค" ผู้ชนะในวันนี้

วัวใต้
ฝนโปรยรับงานเดือนสิบแต่เช้าวันต้นเทศกาล ดังคำท่านว่า "คนมีวาสนาทำบุญฝนตก ยาจกทำบุญแดดออก" ด้านคนต่างถิ่นก็เข้าถึงภาวะที่ เอาแน่เอานอนไม่ได้ ของอากาศคาบสมุทรภาคใต้ไปพร้อมกัน ชนวัวเป็นส่วนหนึ่งของงานบุญ ? คงไม่ใช่เรื่องจะมาสอบถามกันเวลานี้ (มิฉะนั้นจะต้องลากไปถึงว่า "บุญ" คืออะไร) การชนวัวดำรงอยู่ควบคู่กับจังหวัดนครศรีธรรมราชมาช้านาน ในฐานะกีฬาพื้นบ้าน ในเทศกาลบุญเดือนสิบ ตรุษสงกรานต์ ปีใหม่ ถือว่าขาดวัวชนไม่ได้ ช่วงเทศกาลบุญเดือนสิบ (ราวปลายเดือนกันยายน) สนามชนวัวหรือบ่อนวัวบ้านยวนแหลของอำเภอเมือง จัดมหกรรมชนวัวต่อเนื่องกันเจ็ดแปดวัน เปิดฉากจากสาย ๆ ว่ากันไปจนใกล้ค่ำจึงแล้วเสร็จ ๑๘-๒๐ คู่ มีให้ดูกันจุใจขนาดนี้ บริเวณรอบ ๆ สนามชนวัวจึงกลายเป็นคอกขนาดใหญ่ให้โคถึกกว่า ๒๐๐ ตัวพักแรมรอลงสนาม พร้อมคนเลี้ยงวัว หุ้นส่วนชีวิตที่กินนอนด้วยกันนานแรมเดือน ชนวัวช่วงเทศกาลจัดว่าเป็นนัดพิเศษ วัวเก่งก็มีวัวใหม่ก็มาก เนื่องจากตลอดปี จังหวัดนครศรีธรรมราชมีชนวัวแทบทุกสัปดาห์ หมุนเวียนกันไปในหกสนามของอำเภอต่าง ๆ โดยแต่ละสนามได้รับอนุญาตให้จัดเดือนละครั้ง

หากต้องการขยายภาพความนิยมใน "กีฬา" ชนิดนี้ ให้กว้างขึ้นจากเมืองคอน จะเห็นว่าพัทลุง ตรัง สงขลาก็มีบ่อนชนวัวของตัวเองจังหวัดละสองสามสนาม รวมเป็น ๒๒ สนามทั่วภาคใต้ในขอบเขตวัฒนธรรมชนวัว บางจังหวัดแม้ไม่มีบ่อนชนวัวเป็นการถาวร แต่ก็นิยมเลี้ยงไว้ขายและชนต่างถิ่น วัวดีที่สุดของภาคใต้ขณะนี้ นักเลงวัวยอมรับว่าเป็นวัวของบ้านนาสาร สุราษฎร์ธานี ซึ่งไม่มีสนามชนวัวของตัวเอง นอกจากนี้ การที่โคถึกวัยคะนอง ช่วงอายุระหว่าง ๕-๑๕ ปี ไม่อาจจะลงสนามได้ทุกบ่อยเหมือนนักมวยงานวัด ชนครั้งหนึ่งต้องพักรักษาตัวไปสองสามเดือน บางตัวต้องหกเดือน จึงติดคู่ชนครั้งใหม่ อาจเป็นตัวอย่างทางสถิติ แสดงให้เห็นว่าเรามีวัวชนหมุนเวียน อยู่ในลานทรายอันมหึมามากมายเพียงใด หากคุณนั่งรถผ่านย่านที่มีรถเก๋ง รถปิกอัป มอเตอร์ไซค์จอดเต็มสองฟากถนนเป็นแนวยาว เก้าในสิบที่เจอก็ควรเป็นสังเวียนชนวัว ที่ซึ่งเงินสด ๆ สะพัดวันละเหยียบ ๑๐ ล้านบาท หากเป็นวัวดีของภาคใต้ค่าหัว ๓-๔ แสนบาทโคจรมาเจอกันด้วยแล้วบ่อนแทบปริ ค่าผ่านประตูรอบเดียวอาจเก็บได้ถึง ๓ ล้านบาท เหมือนที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์จำติดตาว่า "ใบห้าร้อยยัดใส่หลัว...ไม่ต้องนับ" เรามักจะเห็นวัวชนต่อเมื่อมันถูกจูงเข้าสนาม หรือยามออกเดินถนนกับคนเลี้ยง ตามฐานะความสัมพันธ์ ระหว่างวัวชนกับคนเลี้ยงหรือเจ้าของ ทว่าระหว่างหัวเชือกทั้งสองข้าง คือในมือคนจูงวัวข้างหนึ่งกับจมูกวัวข้างหนึ่ง ยังประกอบด้วยสายสัมพันธ์แวดล้อมอื่น ๆ ที่มองไม่เห็นของ "สังคมชนวัว" ซึ่งควรแก่การสนใจไม่น้อย นับตั้งแต่ครอบครัวคนเลี้ยงวัว, เถ้าแก่ (นักธุรกิจ) เจ้าของวัว, นายสนามชนวัว, ผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดชนวัว, นักพนัน, พ่อค้าแม่ค้า, คนให้เช่าที่พักวัว, ผู้อุปถัมภ์สนาม, นักการเมืองท้องถิ่น นอกจากนี้ยังอาจหมายรวมถึง ขนบนิยมแฝงเร้นว่าด้วยการเสี่ยงสู้ ความต้องการเอาชนะ ไว้เหลี่ยมไว้เชิง ไม่ยอมเสียเปรียบของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาศัยวัวชนเป็นตัวแทน การคลายเกลียวเชือกแห่งความสัมพันธ์คงต้องเริ่มตั้งแต่ -- วิถีความคิดเกี่ยวกับการได้มาซึ่งวัวดี ..................................................................

การได้มาซึ่งชัยชนะต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกเฟ้นวัวชน "ลุงดำ" เจ้าของวัวโหนดนำโชค ยังคงเชื่อเรื่องลักษณะเด่นจำเพาะของวัวดี ที่คนรุ่นเก่าเชื่อถือสืบกันมาว่า ให้ดูที่ขวัญ เขา สี ลักษณะอันเป็นศุภลักษณ์"โคโหนด" มีสีแดงอมน้ำตาลระเรื่อของลูกตาลโตนดตรงบริเวณลำตัว ใต้ท้อง ส่วนหัวและสะโพกเป็นสีดำ "โคดุกด้าง" หมายถึงสีเทา - ดำหม่นเหมือนสีปลาดุก "ลังสาด" ก็คือสีน้ำตาลของผลลางสาด นอกจากนั้นก็มี สีแดง สีขาว นิลที่เป็นสีดำจนถึงดำเข้มตลอดทั้งตัว นักเลงวัวเรียกขานวัวของเขา จากสีพ่วงท้ายด้วยฉายาที่อาจเป็นลักษณะเฉพาะของวัวตัวนั้น หรือที่เป็นมงคลโดนใจ แต่ละสียังมีโทนสีปลีกย่อยออกไปพอสมควร น่าสนใจตรงที่มีความเชื่อกันว่า วัวสีหนึ่งจะชนะวัวบางสี และอาจจะแพ้วัวบางสี เช่น วัวนิลเพชรชนะวัวโหนด วัวโหนดชนะวัวขาว ส่วนวัวที่ถือกันว่ามีลักษณะดีเลิศ ชนะวัวทั้งปวงคือ "วัวศุภราช" ลำตัวสีแดงเหมือนแสงเพลิงที่รุ่งโรจน์ แต่มีรอยด่างขาวตั้งแต่โคนหางตลอดถึงตา โดยเฉพาะบริเวณเท้าทั้งสี่ หาง หนอก หน้า ดังคำกล่าวที่ว่า "ตีนด่าง หางดอก หนอกผาดผ้า หน้าใบโพ" แต่วัวลายโดยทั่วไปที่ไม่ใช่วัวศุภราช จะไม่เป็นที่นิยมใช้เป็นวัวชน เพราะถือว่า "วัวลายควายขาวย่อมใจเสาะ" เจ้าของบางคนเลือกวัวที่สีถูกโฉลกกับชะตาราศีตัวเองด้วย

ดูขวัญ เขา สีแล้ว ยังต้องดูลักษณะเด่นบางอย่างประกอบ ตั้งแต่ รูปหน้า หู ตา หาง ลึงค์ ลูกอัณฑะ จนถึงขนที่อวัยวะเพศ อย่างที่ชาวบ้านประมวลไว้คล้องจองว่า "หู ตาเล็ก หางร่วง หัวรก หมอยดก คิ้วหนา หน้าสั้น เขาใหญ่ ลูกไข่ช้อนไปข้างหน้า" แต่ถ้าวัวมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งที่ เขากาง หลังโกง หางสั้นหรือยาวมากเกินปรกติ ถือกันว่าไม่ดี แต่จากประสบการณ์ของคนเลี้ยงวัว ไม่มีวัวตัวใดที่มีนิมิตดี ครบถ้วนทุกลักษณะวัวชน แล้วจริง ๆ ก็ไม่น่าจะมีวัวครอบครองลักษณะเลว ครบถ้วนทุกกระบวนท่าเหมือนกัน ส่วนใหญ่มีทั้งลักษณะดีและร้ายคละปนกัน วัวชนที่มีลักษณะดี ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นวัวชนที่ดี และชนชนะเสมอไป ขณะที่ตำราลักษณะวัวชนกล่าวว่า วัวที่ลักษณะร้ายสามข้อดังกล่าวข้างต้น รวมอยู่ในตัวเดียวกัน คือ "เขากาง หางเกิน และหลังโกง" ก็กลับถือว่าเป็นลักษณะที่ดี ว่ากันว่า "แดงไพรวัลย์" วัวชนลือชื่อในอดีตก็มีลักษณะเช่นนี้ สิ่งที่คนรุ่นก่อนบอกเล่าต่อมาในรูปมุขปาฐะ นับเป็นภูมิปัญญาจากการเฝ้าสังเกต เก็บข้อมูลมาเนิ่นนาน วัวชนเป็นกีฬาที่ต้องต่อสู้แบบประจันหน้าตัวต่อตัว ดังนั้นการที่อวัยวะบางส่วน มีคุณลักษณะเด่น ก็จะเป็นฝ่ายได้เปรียบคู่ต่อสู้ ในขณะที่อวัยวะบางส่วนต้องมีขนาดเล็ก เพื่อจะได้รอดพ้นจากการทำลายของคู่ต่อสู้ให้มากที่สุด คนปักษ์ใต้แยกอธิบายว่า

"เขา" วัวชนต้องมีโคนเขาใหญ่และแคบ ช่วยป้องกันไม่ให้ปลายเขาของคู่ต่อสู้ ทะลวงเข้าไปทิ่มแทงกล้ามเนื้อบริเวณกกหู และลำคอได้ "วงหน้า" ต้องมีขนาดเล็ก มนและสั้น ด้านหน้าของหัวแคบมีความสัมพันธ์กับโคนเขาใหญ่ ทั้งนี้ก็เพื่อ จำกัดพื้นที่ส่วนหน้า ที่จะต้องเสียดสี และเปิดรับอาวุธคู่ต่อสู้ให้น้อยที่สุด "คิ้วและตา" คิ้วหนา ตาเล็กต่างก็เกื้อกูลในทำนองที่จะช่วยปกป้องตา ไม่ให้ได้รับอันตรายจากทั้งปลายเขาของคู่ต่อสู้ และเลือดที่ไหลในขณะทำการต่อสู้ ขณะที่ลักษณะบางอย่างน่าจะมาจากความเชื่อล้วน ๆ เช่น "หัวรก หมอยดก" ชาวบ้านแปลความว่า เป็นวัวที่มีใจมาก น้ำอดน้ำทนสูง ไม่ยอมแพ้คู่ต่อสู้ง่าย ๆ

สังเวียนกลางทุ่ง
ตอนลุงดำซื้อไอ้โหนดมา มันอายุราวหกเดือน เงิน ๖,๐๐๐ กว่าบาทก็เหมาะสมดีกับวัวพันธุ์พื้นเมือง ที่ใช้งานในไร่นาทั่วไปวัยขนาดนี้ ส่วนมากคนซื้อไม่รู้หรอกว่า ลูกวัวที่ได้มา มีเชื้อพันธุ์วัวชนเก่งกาจผสมอยู่บ้างหรือเปล่า เพราะถ้าเป็นลูกวัวสายพันธุ์ดีนั้น ซื้อขายกันในราคาสูงเกิน ๑ หมื่นบาท แต่แกเห็นว่ามันมีรูปลักษณ์ดีตามคตินิยม (เท่าที่เห็นได้ในขณะนั้น) วัวทั่วไปพออายุ ๓-๔ ปีก็เริ่มถึก และเริ่มชิงความเป็นจ่าฝูง โดยการประลองกำลังชั้นเชิงในการต่อสู้ และน้ำใจอดทน เจ้าของฝูงจะคัดเลือกตัวชนะไว้เป็นพ่อพันธุ์ ตัวที่แพ้ก็ทุบลูกอัณฑะตอนเสีย ไม่ให้ขยายพันธุ์เสีย เรียกกันว่า "วัวลด" แต่สำหรับคนเลี้ยงระดับชาวบ้าน มีวัวแค่วัวสองตัว ถ้าชนเก่งก็ถือว่าโชคดีเหมือนถูกหวย ถ้าไม่สู้เพื่อนก็เลี้ยงเป็นวัวเนื้อโดยปริยาย ไอ้โหนดโตเป็นหนุ่มก็เริ่มส่อแววว่า มีอุปนิสัยส่อไปในเชิงชอบต่อสู้ เช่น ซุกซน ปราดเปรียว ชอบชนกับวัวอื่น ๆ ในทุ่ง ไม่กลัวแม้เผชิญหน้ากับตัวใหญ่กว่า ประสาที่เรียกว่า วัวด้น - แบบเดียวกับมฤตยูดำ ไมค์ ไทสัน นักมวยเฮฟวีเวต จึงเริ่มซ้อมชนกลางทุ่งนาเพื่อดูทางชน หรือชั้นเชิงของมันว่าจะอยู่ในระดับไหน ที่สำคัญมากคือดูใจแห่งความเป็นนักสู้ว่าชนได้นานเพียงใด หากวัวชนได้เพียง ๕ นาที หรือเพลี่ยงพล้ำเพียงเล็กน้อย แล้วหันหลังหนีก็ใช้ไม่ได้ เหมาะจะเลี้ยงเป็นวัวเนื้อมากกว่า การชนแบบนี้จะต้องพันเขาด้วยพลาสเตอร์ เพื่อแสดงเจตนาบริสุทธิ์ว่า ไม่ได้เล่นพนัน และมักชนกับวัวรุ่นราวคราวเดียวกัน ที่ไม่เคยผ่านสังเวียนจริงมาก่อน

ปัจจุบันวัวที่ชาวบ้านซื้อมาเลี้ยงราคา ๑ หมื่นบาท พอเอามาซ้อมชนจะจะเพียงครั้งสองครั้ง อาจขายให้เถ้าแก่ได้ทันที ๔-๕ หมื่นบาท ทว่าหลายคนก็ปฏิเสธไม่ยอมขาย ลึก ๆ ทุกคนก็หวังจะให้วัวโตขึ้นมา กลายเป็นตำนานวัวชนอย่างโคโพเงิน โคแดงไพรวัลย์ โคขาวรุ่งเพชรทั้งนั้น โคโพเงินเป็นวีรบุรุษของครอบครัวกาฬคลอด และชาวบางบูชา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช หลังจากตายไปแล้ว คนในครอบครัวยังให้ความรักความผูกพันประหนึ่งยังมีชีวิตอยู่ จึงได้สตัฟฟ์ไว้บูชาและจัดที่อยู่อันควรให้ เจ้าโหนดเองก็มีคนเลียบเคียงขอซื้อมากมาย แต่เมื่อมันชนชนะสังเวียนกลางทุ่งครั้งหลังสุด ลุงดำและพรรคพวก ก็รู้ว่ามันจะเป็นวัวมีระดับในอนาคต ได้ใช้ชีวิตท่องไปตามสังเวียน เพื่อล่าเดิมพันวงเงินล้าน ความจริงเกี่ยวกับชีวิตวัวชนข้อหนึ่งจากปากนักเลงคือ การเป็นวัวชน เท่ากับยืดเวลาการตายของมันออกไป นานกว่าปรกติ วัวดี สุขภาพสมบูรณ์จะสามารถชนจนถึงอายุ ๑๒-๑๕ ปี พวกนี้มักจะอยู่ได้จนสิ้นอายุขัยในแปลงหญ้า ขณะที่วัวไม่ได้เป็นวัวชน อายุได้เพียง ๓-๔ ปีก็ถูกส่งขายเขียงเนื้อ .................................................

"โคนิลเพชรหัวใจสิงห์" ดาวรุ่งอายุ ๗ ปีของบ่อนยวนแหล มีประวัติต่างจากไอ้โหนด มันเป็นผลผลิตจากสายพันธุ์ของวัวชนชั้นดี สายพันธุ์ดีหมายถึง gene วัวชนชั้นเลิศจากทางสายแม่ (พ่อของแม่เป็นวัวชน หรือพี่น้องตัวผู้ของแม่เป็นวัวชนระดับแชมป์เปี้ยน) ยิ่งถ้าผสมกับสายพ่อที่เป็นวัวชนระดับขุนพล ลูกที่ได้ย่อมมีพันธุ์ประวัติดี เข้าทำนอง "เชื้อมักไม่ทิ้งแถว" เจ้านิลมีองค์ประกอบสำคัญซึ่งเป็นที่นิยมอีกข้อหนึ่ง คือโครงสร้างของร่างกายที่แข็งแรง -- คร่อมอกใหญ่ บั้นท้ายเล็กเรียวลาดลงคล้ายสิงโต วัวคร่อมอกใหญ่ได้เปรียบเพราะ ยามเข้าต่อหัว วัวจะทุ่มน้ำหนักไปข้างหน้าทั้งหมด ฝ่ายที่มีหน้าตัดของกล้ามเนื้อมาก หรือมีมวลมากย่อมได้เปรียบ จะสามารถกดดันคู่ต่อสู้ ให้เสียการทรงตัวได้ง่าย ขณะเดียวกันก็ต้านแรงปะทะจากคู่ต่อสู้ได้ดี ทุกวันนี้เวลาจะซื้อวัวชน คนมีแนวโน้มที่จะเลือกวัวสายพันธุ์ดี (แม้ราคาแพงกว่าสองสามเท่า) มากกว่าจะเลือกว่าขวัญอยู่ตรงหนอก หรืออยู่กลางหลังตามภูมิความรู้ที่สั่งสมมา กระแสคิดที่แปรเปลี่ยน นอกจากแสดงว่าคนอาศัยหลักวิทยาศาสตร์ ในการคัดเลือกมากขึ้นแล้ว จะเป็นไปได้ไหมว่า มันยังสะท้อนถึงลักษณะนิสัย เกี่ยวกับความต้องการเอาชนะ ที่เข้มข้นขึ้นของคนกลุ่มนี้ด้วย

วัวทั้งสองแสดงชั้นเชิงเข้าตานักเลงวัว และได้รับการขุนอย่างจริงจัง ฟิตตัว ออกกำลังแข็งแกร่ง...กล้ามคอขึ้นแน่นปึ้ก หลังจากชนบ่อนชนะเพียงสองครั้ง มันก็ถูกซื้อมาอยู่กับเถ้าแก่ของบ่อนยวนแหล ด้วยราคา ๔ หมื่นบาท ตอนนี้ราคาของมันสูงจน "ไม่มีราคา" "ซื้อสิบกว่าเราก็ไม่ขาย" ครูจุ๋ม เจ้าของใหม่บอก "มันไม่ได้มีไว้ขาย" -- "สิบ" ของเขาภาษานักเลงวัวนักพนันหมายถึง ๑ แสนบาท ความที่ "เนื้อเลี้ยง" -กำลังบำรุงดี ทำให้ไอ้นิลได้รับการวาง (ซ้อมชน) ทุก ๑๕-๒๐ วัน มีคนเลี้ยงประจำสองคน ไม่นับคนตัดหญ้า อีกทั้งลุงเจ้าของคนเดิม ที่หมั่นมาดูแลเสมือนเป็นพี่เลี้ยงให้อีกคน ในรอบหนึ่งวัน ทั้งเช้าและเย็นไม่ว่าสภาวะอากาศจะอย่างไร คนเลี้ยงจะพาวัวเดินออกกำลังตามถนนดิน หรือชายหาด ระยะทางใกล ้- ไกลตามแต่ต้องการ เดินวัวรอบเช้ากลับมา จะต้องอาบน้ำขัดสีฉวีวรรณให้วัว ยิ่งใกล้วันแข่ง จะมีการเพิ่มรอบอาบ พร้อมด้วยการนวดเฟ้นให้วัวสดชื่นกระปรี้กระเปร่า หญ้าที่วัวชนกินต้องเป็นหญ้าตัดสด ๆ เท่านั้น ไม่ปล่อยให้วัวเดินแทะเล็มหญ้ากินเอง ในระยะหลังเริ่มมีการเลือกชนิดของหญ้าด้วยว่า ต้องเป็นหญ้าหราดกับหญ้าหวายข้อ ที่มีไขมันน้อยเท่านั้น วัวจึงได้รับธาตุอาหารที่เหมาะสม บางคนพอวัวติดคู่ชนแล้ว จะไม่ตัดหญ้าซ้ำที่เดิม เพราะกลัวถูกวางยา วัวกินหญ้าไปพร้อม ๆ กับ "ตรากแดด" แม้เมื่อกินหญ้าอิ่มแล้ว ก็ยังคงถูกปล่อยไว้ที่เสาหลักกลางแจ้ง ท่ามกลางแสงแดดที่แผดจ้าต่อไป เพื่อลดไขมัน และสร้างความเคยชินต่อภาวะตรากตรำ จะทำให้ไม่เหนื่อยง่ายเมื่อทำการชนจริง

สำหรับคนเลี้ยงวัวระดับชาวบ้าน กิจกรรมการประคบประหงม ต้องใช้แรงงานอย่างน้อยสองคน ไม่พ่อกับแม่ก็พ่อกับลูกชาย ต้องใช้ทั้งเวลา และความวิริยะอุตสาหะ ชาวบ้านจึงเลี้ยงวัวชนได้ไม่มากกว่าคราวละหนึ่งตัว หากมีภาระต้องดูแลลูก หาเงินส่งลูกก็เลี้ยงไม่ได้ ฝ่ายคนที่รับจ้างเถ้าแก่เลี้ยงวัวก็ใช่ว่าเขาจะมีความผูกพันธ์ มุ่งมั่นในชัยชนะ ถึงขั้นทุ่มเทชีวิตให้แก่วัวชนน้อยกว่ากรณีที่เป็นเจ้าของเลี้ยงเอง เพราะความจริงคือ พวกเขาจะต้องกินนอนอยู่กับวัว เกือบตลอดเวลาอยู่แล้ว หรือถ้าจะพูดให้ถูก วัวชนตัวนั้นเป็นของพวกเขานั่นเอง โดยที่มีเถ้าแก่ (ซึ่งทำธุรกิจอย่างอื่นเป็นหลัก) ซื้อมาให้เลี้ยง คำว่า เลี้ยงวัว ของบรรดาเถ้าแก่ นายหัว จึงหมายถึงเขาจะต้องเลี้ยงคนเลี้ยงวัว เลี้ยงครอบครัวของคนเหล่านั้นให้อยู่ดีกินดี ถ้าครอบครัวคนเลี้ยงวัวมีปัญหา เถ้าแก่จะต้องมาดูแลด้วย มิฉะนั้นวัวจะมีปัญหาไปด้วย เหมือนที่มีคนสรุปว่า "ถ้าเขากินไม่อิ่ม ต้องมีปัญหาอย่างหนึ่งอย่างใดต่อวัวอย่างแน่นอน" เพราะสภาพแวดล้อมในสังคมชนวัวสอนให้รู้ว่า วัวชนนั้นต้องอยู่ในสถานะหุ้นส่วนของชีวิต ถ้าเลี้ยงแบบทีเล่นทีจริง ทำแบบขอไปทีก็จะไม่มีทางกำชัยชนะได้เลย เมื่อตัดสินใจได้ว่าวัวและตัวเองพร้อมที่จะติดคู่ชนแล้ว เจ้าของก็จะเอาวัวไปเปรียบที่บ่อน ตามวันเวลานัดหมาย หรือถ้าเป็นวัวมีชื่อชั้น ก็อาจตกลงติดคู่กันเองระหว่างเจ้าของวัว หรืออาจมีคนกลางเชื่อมประสานหาข้อตกลงโดยไม่ต้องไปที่สนาม การเปรียบวัวถือเป็นการประลองกำลังขั้นแรก ซึ่งอาจส่งผลถึงการแพ้ - ชนะกันได้

ทำคำ
สองสัปดาห์ก่อนถึงวันเปรียบวัว กลุ่มเจ้าของวัวบางรายจะตรากวัว ด้วยการให้วัวตากแดดตลอดวัน ควบคุมปริมาณน้ำและหญ้าให้วัวอิดโรย ไม่แสดงอาการคึกสู้ บางครั้งยังปล่อยให้ละเลงโคลนตมจนเลอะเทอะไปทั้งตัว ทั้งนี้เพื่อพรางตาฝ่ายตรงข้ามว่าวัวผอม ตัวเล็ก ดูแล้วไม่น่ากลัว ทำให้โอกาสติดคู่ได้ง่าย การเปรียบหาคู่ชน โดยทั่วไปจะนำวัวเข้าเทียบเคียงกัน เพื่อให้ทีมงานและหุ้นส่วน ร่วมกันดูและตัดสินใจว่าจะติดคู่กับตัวใด -- ดูขนาดตัวใกล้เคียงกัน, อายุจริง - อายุในการชน ว่ามีประสบการณ์ผ่านศึกมาโชกโชนเพียงใด, ลักษณะของเขาที่เหมือน ๆ กัน เพื่อไม่เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกัน แต่กฎเกณฑ์นี้ไม่ได้ตายตัวเสมอ นักเลงบางคนดูทางชนด้วย พอเห็นวัวของเขาเหมาะกับทางชนฝ่ายโน้น ก็ตกลงทันที ตัวจะเสียเปรียบนิดหน่อยก็ไม่เป็นไร วัวตัวเก่งชนชนะติด ๆ กันหลายครั้ง มักต่อน้ำหนักให้คู่ต่อสู้ พอได้คู่ชนแล้วก็ตกลงวงเงินเดิมพันกัน เดิมพันมาตรฐานจะอยู่ที่ ๒๐,๐๐๐-๑ ล้านบาท โดยนายสนาม ผู้จัดการสนามเป็นคนคอยเชื่อมประสานให้เกิดการลงตัวทั้งสองฝ่าย วัวยืนเทียบกันท่ามกลางบรรยากาศการซุบซิบของเจ้าของ ในเชิงหารือกับคนยืนข้างเคียง เสียงพูดค่อย ๆ หลุดออกมาเป็นระยะ ๆ -- "กูว่าเอาได้นี่วะ" "เสียสั้นสักหิดแต่ได้ยอด" "เสียบางสักหิดแต่ได้ยาว"

ซึ่งในบรรดาผู้รายล้อมอยู่นั้น ฝ่ายจัดการของสนามก็ต้องการรวบรัดให้ได้คู่วัวเร็วที่สุดและมากที่สุดในหนึ่งวันเปรียบ โดยเฉพาะคู่วัวที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้กันว่าถ้าตกลงชนกันได้แล้ว ก็จะพนันกันด้วยเงินเดิมพันก้อนใหญ่ เงินเดิมพันก้อนใหญ่ จะเป็นแรงจูงใจให้คนเข้ามาดูสร้างรายได้ ให้ทางสนามอย่างงาม จึงอยากให้ทุกอย่างลงตัวโดยเร็วที่สุด ฝ่ายนักเลงวัวชนซึ่งพาวัวตัวเองตระเวนไปตามบ่อนต่าง ๆ ทั่ว รู้จักทางชนของวัว ว่าวัวตัวไหนชนอย่างไร ใจแค่ไหน และคุ้นชินกับเกมที่เต็มไปด้วยเล่ห์เพทุบาย ชิงความได้เปรียบกันและกัน แต่ทางด้านเจ้าของวัวหน้าใหม่ อาจตกเป็นเหยื่อของคนเลี้ยงวัวของสนาม ที่ได้จัดหาวัวตัวเด็ด ให้คนซุ่มเลี้ยงเอาไว้ เข้ามาเชียร์ให้ตกลงชนโดยไม่รู้เท่าทัน พอเห็นว่าวัวของฝ่ายตนได้เปรียบ หรือเมื่อเห็นว่าอีกฝ่ายเริ่มลังเล แบ่งรับแบ่งสู้ ก็จะมีคนเข้าไปเชียร์ ด้วยการขันอาสาเป็นผู้รับรองในบางเรื่อง ที่เจ้าของวัวไม่แน่ใจ พูดด้วยวาจาท้าทาย ยุยงส่งเสริม เช่น "ถ้าไม่เอา (ตกลงชน) กับตัวนี้ กูให้จูงกันเชือกขาดก็ไม่ได้ชน" "เอาตะ...กูถือ เดิมพันกัน" "ของหมัน (ของเขา) ไม่ใช่ดีไหรนิ ไม่เอากับตัวนี้ก็เภาแหละหมึง" (เภา= ไก่เภาที่รูปร่างใหญ่แต่ไม่สู้เพื่อน) อาจบางที ขนบนิยมของท้องถิ่นนั่นเองบอกเขาว่าถ้าเพื่อนท้าแล้วต้องสู้ ยอมไม่ได้ คำว่า วัวลด นอกจากหมายถึงวัวประเภท "ดังกล่าว" แล้ว ในภาษาของชาวนาในลุ่มน้ำนี้ใช้เรียกผู้ชายที่ (ใจ) ไม่สู้ด้วย ซึ่งไม่มีใครอยากเป็น

สิ่งสำคัญที่สุดของการตกลงทำการชน นายสนามจะเรียกทั้งสองฝ่ายมาทำสัญญา เรียกว่า ทำคำ สำหรับนักเลงวัวแล้ว การทำคำมีผลบังคับใช้กับคู่สัญญา มากกว่าการทำสัญญประเภทอื่น มันน่าจะกินความถึงการพูดคำไหนคำนั้นด้วย คู่สัญญารู้ดีว่าหากฝ่าฝืน หรือละเมิดสัญญาเมื่อใด นายสนามผู้เปี่ยมบารมี อาจจะนำมาตรการของศาลเตี้ยมาใช้ได้ทุกเมื่อ ทำให้ไม่เคยเกิดข้อขัดแย้ง จนถึงขึ้นโรงขึ้นศาลจากกรณีนี้แม้แต่ครั้งเดียว การให้ความสำคัญต่อการพูดคำไหนคำนั้น หรือสัญญาทางสังคม มากกว่าสัญญาลายลักษณ์อักษร ดูจะช่วยเสริมภาพนักเลงให้แก่คนในแวดวงวัวชน ในเมื่อ "นักเลง" หมายถึงความใจกว้าง เพื่อนฝูงมาก พูดคำไหนคำนั้น พฤติกรรมเหล่านี้ถือเป็นอุบายเชิงรุก เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในวงการต่อไป ทำนองเดียวกับคำตอบว่า "ติดคู่ชนแล้ว" ต่อคนไถ่ถามที่ผ่านไปผ่านมา ดูสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ทุกคน มิใช่ในระดับ "วัวมีคู่ชน" เฉย ๆ แต่หมายถึงการได้เสี่ยงสู้ และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนักเลงด้วย

วัวเองก็เหมือนรู้ ไอ้นิลเอาตีนหน้าทั้งสองสลับกันตะกุยทราย แสดงอากัปกิริยา จานดิน พ่นลมหายใจออกจากจมูกแรง ๆ เดินออกจากสนามวัวยวนแหลที่เปรียบวัว โดยไม่ต้องจูง แสดงว่ามันคึก เหมือนที่เคยทำฮึดฮัดกระตุกเชือก เวลาได้ยินเสียงวัวตัวอื่นชนในสนาม -- "นิลเพชรหัวใจสิงห์" ชนรอบพิเศษวันที่ ๓ ของงานบุญเดือนสิบกับวัวจากสุราษฎร์ฯ อำเภอบ้านส้อง เดิมพันข้างละ ๔ แสนบาท "โหนดนำโชค" เจอกับวัวจากอำเภอทุ่งใหญ่ ซึ่งเป็นค่ายที่รู้กันในแวดวงว่าซ้อมดี เดิมพันติดปลายเขา ๔ แสนเช่นกัน ด้วยเงินอุดหนุนค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายบางส่วนจากทางบ่อน ก่อนทำการชนหนึ่งเดือน ไอ้โหนดกับวัวอีกหกตัวจากอำเภอลานสะกา ย้ายเข้าค่ายพักวัวชั่วคราวด้านหน้าบ่อน เป็นทีมเดียวกัน คณะที่มาจากต่างตำบล ต่างจังหวัดก็พากันมาปักหลักอยู่รอบ ๆ บ่อนคึกคัก เพื่อให้วัวเรียนรู้ และคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมของสนามใหม่ สถานที่ใหม่ในด้านต่าง ๆ เช่น ดิน น้ำ อากาศ และหญ้า จะทำให้วัวไม่ตื่นตระหนก และชนได้นานเสมือนกับชนในถิ่นฐานตัวเอง เรื่องให้วัว "ลงที่" กับสภาพแวดล้อมเป็นเรื่องที่สำคัญ หลังจากเดินออกกำลังช่วงเย็น วัวชนต่างถิ่นมักจะถูกพาไปเล่นบ่อน หรือเดินภายในสนามแข่งขัน เพื่อให้คุ้นเคย และพักผ่อนคลายเครียด หลังจากที่มันอยู่ในแผนการฝึกปรือดูแลรักษามาตลอดวัน เจ้าวัวบางรายยอมถอนตัวจากการแข่งขัน เพียงเพราะเห็นว่าสถานที่นั้นหญ้าไม่ดี รู้สึกว่าสภาพแวดล้อมไม่น่าไว้วาง หรือวัวลงซ้อมคู่แล้วไม่ยอมชน ยอมเสียมัดจำตามอัตราบ่อน ๓๐ เปอร์เซ็นต์จากเงินเดิมพันโดยที่เขาไม่รู้สึกเสียหน้าแต่อย่างใด "ดีกว่ายอมเสียเงินแสน หรือเสียวัว"

ค่ายพักวัว
ภายในค่ายพักวัวคือพื้นที่แห่งความ "สดและสาบ" กลิ่นของวัว ขี้วัวและหญ้าสด ๆ เคล้าคละปะปนกันกระต๊อบที่ปลูกสร้างติด ๆ กันเป็นห้องแถวของวัวดูทรุดโทรมไปบ้างในสายตาคนภายนอก เพราะสภาพเก่าคร่ำของมัน บวกกับความไม่ใส่ใจดูแลตัวเองของเด็กเลี้ยงวัว แต่บริการสำหรับวัวชนแต่ละตัว ต้องบอกว่า...ทุกระดับประทับใจ ยามเย็นหลังจากอาบน้ำลงขมิ้นให้วัว พวกเขาจะสุมไฟไล่เหลือบยุงให้หุ้นส่วนชีวิต ขณะปล่อยให้มันกินหญ้าจากกระบะ (บางคนคอยป้อนหญ้าให้) วัวทุกตัวมีมุ้งตาข่ายขนาดใหญ่เป็นของตัวเองภายในกระต๊อบ ขี้ เยี่ยวก็มีคนคอยรอง หรือเก็บกวาดเสมอ เด็กเลี้ยงวัวพูดว่า "วัวต้องออกเดิน กินและอาบน้ำครบถ้วน แต่ผมเองอาจไม่ครบ...ไม่จำเป็นต้องครบ" ผ่านไปตามโรงเรือนเกือบทุกแห่ง จะเห็นมะพร้าวกองสุม เจ้าของวัวว่าน้ำมะพร้าวอ่อน เป็นอาหารบำรุงกำลังวัวชน นอกจากนี้มันยังได้อาหารเสริมเป็นไข่ไก่ และถั่วเขียวต้ม โดยนักโภชนาการยังไม่มั่นใจว่า ไข่ไก่สดจะมีผลทางสร้างสรรค์อย่างไร ต่อสัตว์เคี้ยวเอื้อง บางคนเพิ่มความแข็งแกร่งภายในด้วยแคลเซียม ฉีดยาบำรุง ถ่ายพยาธิ ให้น้ำเกลือบ้างกรณีที่อากาศร้อนจัด

เกี่ยวกับสารกระตุ้นประเภทสเตรียรอยด์ เป็นเพียงข่าวที่ไม่ได้รับการยืนยัน เพราะผู้เลี้ยงวัวระดับชาวบ้าน ไม่มีความรู้ว่าจะให้อย่างไร ปริมาณเท่าไร จึงกลัวสารตกค้างทำให้เสียวัวไปมากกว่า จะมีบ้างก็แต่สิ่งสารออกฤทธิ์เร็ว ที่คนกินได้ เช่น เหล้าขาว เครื่องดื่มบำรุงกำลัง แต่สำหรับคนที่แน่ใจว่าวัวตัวเองสู้ จะไม่ให้กินของพวกนี้เลย กลางคืนจะมีเด็กเลี้ยงวัว หรือเจ้าของอย่างน้อยหนึ่งคน นอนเฝ้าวัวอยู่ข้าง ๆ ตลอดคืน พวกที่เหลือจะจับกลุ่มคุยกันอยู่ตรงนอกชาน เฝ้าระวังไม่ให้คนเข้ามาวางยา หรือกระทำการใด ๆ ให้วัวผิดปรกติจนพ่ายแพ้การแข่งขัน ยิ่งใกล้วันแข่งขัน บรรยากาศภายในค่ายก็ยิ่งเคร่งเครียดและเข้มงวด คนเฝ้ายามอดนอนหัวกระเซิงเหมือนผีดิบ "นักเลงวัวอย่างน้อยต้องไม่แพ้เพราะเพื่อนเอาเปรียบ ไม่คลางแคลงใจว่าเสียรู้คนอื่น" (เสียสตางค์บางทีไม่เท่าไหร่) ชายคนหนึ่งพูดนัยน์ตาเขม็ง "เบื่อวัวทำได้หลายแบบ เช่นสมัยก่อนเอาตะปูเข็มตอกตรึงบริเวณโคนเขาให้วัวรู้สึกเสียวและเจ็บปวด เอาของยัดใส่เข้าในรูหู หรือตำพืชสมุนไพรบางชนิดให้กินแล้วท้องอืดท้องร่วง เดี๋ยวนี้อาจเอายานอนหลับใส่กล้วยโยนให้กินตอนเจ้าของเผลอ หรือยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ปริมาณที่ไม่ถึงกับทำให้ตาย แค่มึนเมาเศร้าซึมผิดปรกติ

"สังเกตดูได้วัวจะขาสั่น ไม่มีแรง พอปล่อยชนก็หันหลังวิ่ง" นี่คือสาเหตุที่ผู้เลี้ยงวัว จะต้องทำรั้วพร้อมกับขึ้นป้ายประกาศเป็นเขตหวงห้าม ต้องมีคนคอยเฝ้าโรงเรือนอยู่ตลอดเวลา พร้อมกับหมาดุ ๆ กับการเลือกตัดหญ้าแบบไม่ซ้ำที่ ในเมื่อกระทำการต่อฝ่ายตรงข้าม ต้องฝ่าแนวป้องกันหลายชั้น แนวโน้มของผู้เห็นแก่เงิน จึงมุ่งไปในทางกระทำกับวัวตัวเองมากกว่า บางคนซุ่มให้วัวกินหญ้าจนอ้วนพี ไม่ตากแดด ไม่นำออกเดิน วัวจึงไม่แข็งแกร่งพอจะสู้ เรียกว่า "บ่มวัว" บางคนก็กลั่นแกล้งวัวของตน ให้ได้รับความเจ็บปวดทรมาน หรือให้วัวต้องตรากตรำก่อนวันชน โดยไม่ให้พักผ่อนเลย กรณีนี้มักจะทำกับวัวตัวที่เป็นต่อมาก ๆ จากนั้นเจ้าของวัว ก็ให้พวกพ้องตัว แอบไปเล่นพนันวัวอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นวัวรองด้วยเงินมาก ๆ แต่บางครั้งผลการต่อสู้ก็อาจกลับตาลปัตรได้ คือวัวที่เคยชนชนะบ่อย ๆ มักมีศักดิ์ศรีของผู้ชนะ และจิตใจนักสู้อยู่เหมือนกัน มันกลับสู้ยอมตายถวายชีวิต จนเป็นฝ่ายชนะทำให้เจ้าของวัว ต้องประสบกับความหายนะไปก็มาก คนจำพวกนี้ในวงการวัวชน ถือว่าไม่มีจิตใจเป็นนักเลง ไม่มีน้ำใจนักกีฬา จะถูกสังคมนี้อัปเปหิไม่คบค้าสมาคม และเล่นพนันด้วย และที่สำคัญก็คือเสี่ยงต่อการถูกเล่นงาน จากฝ่ายจัดการของสนาม เพราะทำให้นายสนามขาดความเชื่อถือ ในการบริหารจัดการ จนกระทบต่อการดำเนินการในเชิงธุรกิจการแข่งขัน นักเลงวัวยืนยันว่า "ถ้าบ่อนไหนมีการต้มวัว คนจะไม่เข้าจนร้างไปเอง"

รุ่งเช้า เนื้อที่บริเวณรอบ ๆ กว่า ๑๐ ไร่ แลดูคล้ายตลาดวัวควายกำลังเริ่มติดตลาด พี่เลี้ยงจูงวัวออกเดินขวักไขว่ทั้งเข้าและออก หลังจากเดินวัวตามเป้าหมายแล้ว พวกเขามักไปนั่งชุมนุมกันในร้านน้ำชา กลายเป็น "ชุมทางวัวชน" ริมทาง นอกจากเจ้าของวัว ในร้านอาจมีอดีตเจ้าของวัว นายหัว นักพนัน นั่งพูดคุย ถามผลวัวชนเมื่อวาน เหมือนผู้ชายออฟฟิศคุยถึงผลฟุตบอล ยุแหย่กันฉันคนที่รักการเสี่ยงด้วยกัน แม้บางคนไม่คุ้นเคยเป็นการส่วนตัว แต่อย่างน้อยก็คุ้นหน้า (ในวงการ) เมื่อได้นั่งฟังจับสังเกตนานเข้า จะพบว่า แต่ละคนต่างก็มีวัวดีของตัวให้พูดถึง ในอดีตพวกเขาเคยเป็นเจ้าของวัวดัง เคยชน ๒ แสนกันมาแล้ว ขณะที่คุย สายตาของวงสนทนา ณ ร้านน้ำชามักจะพุ่งตรงไปรวมศูนย์อยู่ที่วัวซึ่งผูกเรียงรายอยู่ในคอก การพูดคุยวิเคราะห์วิจารณ์มักจะเริ่มต้นด้วยคำว่า "ถ้า" ในแทบทุกประโยค "ถ้าตัวนั้นแทงติดก่อนก็จะเป็นฝ่ายชนะ" "ถ้าตัวโน้นชนได้นานถึง ๑๐ นาทีขึ้นไปก็จะชนะลูกเดียว" หรือ "ถ้าตัวนั้นกินเพลียงไม่ได้ก็จะเป็นตัวแพ้"

ในบางครั้งการสนทนาด้วยมุมมองที่แตกต่างระหว่างคู่คุย ก็จะนำไปสู่การตกลงพนันขันต่อกันล่วงหน้าก็มี อย่างไรก็ดี เหมือนที่คนบอกว่าในวงการพนัน "จะมีคนซื่อตรงได้เพียงแค่แมวนอน" เท่านั้น -- ก็คือการพูดจานั้น ไม่ได้เสนอความจริงทั้งหมด เพื่อให้เพื่อนสำคัญผิดบางประเด็น เปรียบได้กับแมวที่พยายามนอนให้ตรงอย่างไร ก็ยังคดคู้อยู่ดี บางคนเปิดตัวทักทายด้วยการยั่วยุให้เล่า ด้วยหมายที่จะล้วงข้อมูลจากฝ่ายตรงข้าม เพื่อประโยชน์ในเกมการพนัน ทั้งของตัวเองและนายหัว บรรยากาศเช่นนี้จะหวนกลับมาอีกครั้ง ในช่วงเย็นที่มีเบียร์ เหล้าขาวเป็นสื่อ แต่ใช้เวลาไม่นานเท่ากับช่วงเช้า เพราะต้องอาบน้ำวัว และประคบประหงมอื่น ๆ ต่อไป อันที่จริงคณะวัวชนที่มาจากตำบลเดียวกัน พำนักอยู่บริเวณใกล้ ๆ กัน รวมทั้งนักเลงวัวเจ้าถิ่นแถบ ๆ อำเภอเมือง มีความสัมพันธ์กันมากกว่าการดูแลช่วยเหลือกันฉันเพื่อน แต่หมายถึงการอุปถัมภ์กัน เป็นทีมเดียวกันในเชิงการพนันด้วย เงินเดิมพันวัวแต่ละคู่ เป็นความรับผิดชอบของเจ้าของวัวก็จริง แต่โดยส่วนใหญ่เงินจำนวน ๘ หมื่นหรือ ๒ แสนไม่ได้เป็นของคนคนเดียวหรือสองคนเท่านั้น แต่เป็นของหุ้นส่วนหลาย ๆ คนในหมู่บ้าน ฝากมาลุ้นวัวชนที่ตนเองชื่นชอบ คนที่ไม่ได้มาก็ฝากมาเล่นด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เรียกให้เก๋ว่าเป็นผลึกของความสัมพันธ์ก็ได้ เดิมพัน ๒ แสนของวัวนิลเพชรหัวใจสิงห์ จึงรวมเอาเงิน "ลุง" คนที่เคยเลี้ยงมันด้วย นอกจากแกติดตามมาดูแลไม่ห่างแล้ว ยังมาเอาเดิมพันด้วยเช่นกัน ซึ่งเจ้าของคนใหม่บอกว่าต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน "เป็นน้ำใจ พึ่งพากัน วันหน้าวัวเขาชนเรา อาจต้องพึ่งพาอาศัยเขาบ้าง"

บรรยากาศการพนันขันต่อ ดูท่าว่าจะไปกันได้กลมกลืน กับกลิ่นอายความเชื่อ ไสยศาสตร์ในหมู่นักเลงวัว ก่อนมหกรรมชนวัวเดือนสิบจะเริ่มหนึ่งวัน ต้นยางใหญ่หลังสนามยวนแหล ยังมีผ้าแดงเก่า ๆ ผืนเดียว พอวันรุ่งขึ้นปรากฏว่าผ้าสีพันเต็มไปหมด ในค่ำคืนก่อนจะทำการชน เจ้าของบางคนนิยมบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่นับถือสืบทอดกันมา ทั้งจากภูมิลำเนาเดิม และในบริเวณสนาม วัวใหม่ที่ลงชนในบ่อนครั้งแรก ก็จะมีหมอทำพิธีปลุกเสกให้ในคืนก่อนจะลงสนาม ซึ่งเป็นพิธีที่ปิดลับ ไม่อนุญาตให้คนภายนอกเข้าไปยุ่งเกี่ยวเด็ดขาด ชาวบ้านบางคนห้ามพระภิกษุ เข้ามาในบริเวณโรงวัว เพราะเชื่อว่าจะทำให้วัวของตนใจบุญ มีใจสงสารไม่ประหัตประหารคู่ต่อสู้เพื่อชัยชนะ บางคนไม่ยอมให้คนแปลกหน้าถ่ายรูปวัว กลัวเอาไปสักเลขลงยันต์ให้แพ้ และด้วยชื่อของมัน "ปลาไหล" ซึ่งโดยธรรมชาติไม่ได้มีชื่อเสียงด้านการต่อสู้เลย แต่ก็ถูกเอาเลือดผสมข้าวสุก นำไปพอกที่ปลายเขาวัว เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้วัวของตน ทิ่มแทงคู่ต่อสู้อย่างได้ผลจนเลือดไหล

ใกล้วันชน ทีมงานของ "ไอ้นิล" ช่วยกันลงขมิ้นบริเวณหัว หนอก และลำตัวส่วนต้น ๆ ทุกเย็น นัยว่าเพื่อให้ทนทานต่อคมเขาคู่ต่อสู้ เขาทั้งสองข้างก็อาบด้วยน้ำผึ้งผสมยาดำ จนมันวาวให้ทนทานเช่นกัน จนวันสุกดิบก่อนทำการชนในวันรุ่งขึ้น ไอ้นิลรวมทั้งโคถึกทุกตัว จะถูกลับปลายเขาแต่งให้แหลมด้วยกระจก ขัดกระดาษทราย แล้วปกปิดยอดไว้อย่างดีด้วยพลาสติกล็อกเขา นับจากนาทีนี้ บริเวณภายในคอก จะกลายเป็นเขตปลอดบุคคลภายนอกโดยเด็ดขาด เขาพูดเสียงเรียบและห้วนว่า "วันนี้วันสำคัญ วัวอาบน้ำแล้วจะไม่ให้ใครเข้าในโรง"

วัวรอบพิเศษ
เสียงกลองตุ้ง ๆ ดังขึ้นเป็นสัญญาณให้นำวัวเข้าสู่สนาม... ที่สุดของการเตรียมวัวชน นับตั้งแต่การคัดสรรให้ได้มาซึ่งวัวดี เลี้ยงดู อยู่บำรุงประคบประหงม ซ้อมชน และติดคู่ชน ก็คือวันที่ทำการชนวันนี้ เพราะเป็นวันที่จะพิสูจน์ ตรวจสอบว่าสิ่งที่เจ้าของวัวแต่ละคนคิด เชื่อและคาดหวังนั้นเป็นจริงเพียงใด-- เกมของนักเลง เกมของคนไม่ยอมถูกเอาเปรียบ ที่เต็มไปด้วยการชิงไหวชิงพริบ เกมของคนไม่ยอมแพ้ จะออกมาในรูปใด เมื่อโฆษกสนามให้สัญญาณกลองอีกครั้ง เจ้าของวัวแต่ละฝ่าย ทำการเช็ดล้างวัวของตัว เพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอมที่อาจจะทำให้เกิดการได้เปรียบกัน แล้วตามด้วยกรรมการกลางของสนาม จะเช็ดล้างบริเวณใบหน้า ลำคอ โคนเขา ซอกหู ตลอดไปถึงคร่อมส่วนหน้าเป็นครั้งที่ ๒ โดยต่างฝ่ายต่างก็ส่งตัวแทน ไปควบคุมการเช็ดล้างของกรรมการด้วย เพื่อป้องกันการลำเอียงที่อาจจะเกิดขึ้น และก็มีสิทธิ์ทักท้วง จนกระทั่งเป็นที่พอใจกันทั้งสองฝ่าย กรณีที่เป็นการชนกันระหว่างวัวคู่สำคัญ โดยเฉพาะคู่วัวที่มีเดิมพันตั้งแต่ ๑ ล้านบาทขึ้นไป นอกจากจะกระทำตามขั้นตอนดังกล่าวแล้ว ยังมีการปันน้ำกลางที่ผสมผงซักฟอก จากทางสนาม เพื่อเช็ดล้างครั้งสุดท้ายอีกด้วย หลังจากที่มาตรการต่าง ๆ ได้ถูกนำมาเพื่อตรวจสอบ และขจัดสิ่งแปลกปลอม จนถึงขั้นสุดท้ายก่อนที่จะวางวัวให้ชนกันคือ การใช้ทรายลูบปลายเขา เพราะที่ปลายเขาของวัวบางตัวอาจเคลือบ ทา หรือใช้มีดกรีดปลายเขาให้เป็นร่องเล็ก ๆ แล้วใส่ของมีพิษ หรือสารที่สร้างความแสบร้อน กรณีนี้ทรายจะช่วยป้องกันได้ดีที่สุด จากนั้นจึงเอากล้วยสุกละเลงทั่วบริเวณหน้า กกหู โคนเขา และลำคอวัว กลบกลิ่นสาบของฝ่ายตรงข้าม เพราะนัยว่าวัวหนุ่มจะเกรงวัวแก่ คู่ชนแต่ละคู่ก็ไม่รู้แน่ชัดว่า วัวของอีกฝ่ายอายุเท่าไร่ ก็เลยทากลบกลิ่นเป็นการป้องกันเสียก่อน เสร็จเรียบร้อยแล้วก็จูงวัวมาต่อหัวกันกลางสนาม...

วัวคู่สำคัญ อัฒจันทร์ผู้ชมชั้นที่ ๑ ของสังเวียนวัวยวนแหล คนแออัดกันแทบจะปริ ควันบุหรี่คละคลุ้งไม่หยุด เช่นเดียวกับการต่อรองที่แสดงผ่านการกวักมือ โบกมือ แบมือ เจ้าของวัวเกือบทั้งหมดมารวมอยู่ในสนามทางฝั่งชั้นที่ ๑ นอกจากนี้ยังมี นักเลงระดับนายหัว พ่อค้า นักธุรกิจ เจ้าของนากุ้ง เจ้ามือหวยใต้ดิน แม้แต่ข้าราชการ ทั้งนักพนันอาชีพ และสมัครเล่นมาพบปะกันโดยมิได้นัดหมาย พวกเขาแทบไม่ต้องพูดจากัน แต่สัญญาเกิดได้เพียงแค่สัญญาณมือ กับบัญชีหางว่าว ที่ตัวเองเขียนขึ้นว่าต่อรอง ออกตัวไว้กับใครบ้าง เขาพูดจากันด้วยภาษามือกับเงินสด ๆ เท่านั้น ไม่มีเครดิต เช็ค คนไม่มีเงินสดในมือ จึงถูกสกัดกั้นไม่ให้เข้าบ่อนโดยปริยาย อัฒจันทร์ชั้น ๒ ด้านตรงกันข้ามเป็นของเซียนท้องถิ่น คนขับรถ ชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป เยาวชนที่ติดตามผู้ใหญ่เข้าไปเชียร์วัว หรือมีความชื่นชอบทางด้านนี้ก็มาก ตามความจริงคนดูชั้น ๑ และ ๒ ยังมีการแบ่งกลุ่มภายในโดยปริยาย ด้วยเม็ดเงินที่ทุ่มแทงในการเล่นพนัน -- มุมเงินล้าน, มุมเงินแสน กลุ่มใครกลุ่มมัน ภาษาที่ใช้ในการพนันขันต่อก็ผิดแผกกันในด้าน ความนัยของหลักตัวเงิน "สิบ" ในกลุ่มหนึ่งหมายถึง "พัน" แต่อีกมุมหมายถึง "แสน" ขณะที่พวกหนึ่งกำลังดูวัวชนอย่างเคร่งเครียด ภายในสนามอีกมุมหนึ่งมีการเลี้ยงเหล้าเบียร์ หมูเห็ดเป็ดไก่ เหมือนเลี้ยงโต๊ะจีน บรรยากาศชื่นมื่นจนน่าประหลาดใจ กลุ่มหนึ่งอาจเป็นเจ้าของวัวรวมทั้งญาติพี่น้องจากตำบลเดียวกัน เลี้ยงฉลองที่เอาชนะเดิมพัน และปลอบใจคนแพ้ กลุ่มหนึ่งอาจเป็นของฝ่ายจัดการสนาม กลุ่มนายหัวเลี้ยงเพื่อนฝูง คนในอุปถัมภ์ ตาม "โต๊ะจีน" เหล่านี้ นายสนาม ผู้จัดการสนาม หรือประธานกรรมการชี้ขาดของสนาม จะแวะเวียนเข้าไปดูแล ผู้ที่เข้าไปเล่นพนันในบ่อน บางครั้งไม่ได้เข้าไปเพียงเพื่อเล่นการพนันอย่างเดียว การพนันอาจเป็นเหตุผลรองลงมา เนื่องจากผู้ชมชอบวัวชนในสายเลือด และได้รับขนานนามว่า นักเลงวัวจะมีความภูมิใจ มันหมายถึง พรรคพวก ใจกว้าง มีเพื่อนในแทบทุกวงการ บ่อนวัวจึงเป็นสถานที่ซึ่งนักเลงเข้าไปพบปะสังสรรค์กัน การพนันกลายเป็นสื่อ ให้เกิดความสนิทสนมกลมเกลียวในระดับหนึ่ง ที่แต่ละคนจะรู้ตำแหน่งแห่งที่ของตนในสนามอย่างชัดเจน มีความเป็นไปได้ที่จะกล่าวว่า เมื่อเริ่มแรกบริเวณรอบ ๆ บ่อนชนวัวจะต้องเป็นที่ว่างเปล่าจำนวนนับสิบ ๆ ไร่ แต่ด้วยพลังอำนาจของบ่อน ที่สามารถสร้างงานอาชีพ และรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมจำนวนไม่น้อย ได้ทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาตั้งถิ่นฐานรอบ ๆ บ่อนในเวลาต่อมา ครั้งหนึ่งสนามวัวเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือ ในการเชื่อมโยงกลุ่มผลประโยชน์เข้าด้วยกัน เพื่อโยงใยไปหาประโยชน์แอบแฝงอีกทอดหนึ่ง มากกว่าที่จะหาประโยชน์จากการจัดชนวัว นายสนามและผู้ดำเนินการ อาจไม่มีกำไรจากการชนวัว เนื่องจากผู้ชมชั้น ๑ ล้วนแต่เป็นที่ผู้อุปถัมภ์บ่อน -- นายอำเภอ ปลัดอำเภอ เจ้าของวัว เม็ดเงินที่ทางสนามได้รับจริง ๆ มาจากคนดูชั้นสอง แต่จำนวน และสถานภาพคนดูชั้น ๑ เป็นบารมีของนายบ่อนให้เป็นที่นับหน้าถือตา มีชื่อเสียงบารมี มวลชนเหล่านั้น จะเป็นฐานเสียงทางการเมืองในระดับหนึ่ง เป็นที่รู้กันว่านักการเมืองระดับชาติหลายคน เริ่มต้นด้วยฐานคะแนนเสียง จากแวดวงวัวชน ปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันสนามวัว ถูกนำใช้ไปในฐานะที่เป็นอาชีพ หรือหารายได้ในเชิงธุรกิจมากขึ้น วัวดีมีชื่อเสียงโด่งดัง แสดงถึงความสามารถ และบารมีของนายสนามเป็นสำคัญ กล่าวคือ นายสนามจะต้องเป็นผู้ที่สังคมวัวชนเชื่อถือ และไว้วางใจสูง มีเพื่อนฝูงที่คอยให้ความช่วยเหลือ ขอร้องเจ้าของวัวชนที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก และที่สำคัญคือ จะต้องมีเครดิต ที่จะรองรับเรื่องเงินเดิมพันของวัวบางตัว ที่มีไม่เพียงพอ เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งต้องการจะชนด้วยเงินเดิมพันจำนวนมาก เช่น ถ้าโคโหนด ก. ต้องการจะชนในวงเงินเดิมพัน ๑ ล้านบาท ขณะที่โคแดง ข. รับได้เพียง ๗ แสนบาท แสดงว่าอีก ๓ แสนที่ขาดไป นายสนามจะต้องบริหารจัดการมาเติมจนเต็ม วัวคู่พิเศษจึงจะได้ชน เป็นต้น........................................................

วัวชนไม่อาจรู้คุณค่าความหมายที่แท้ของการฉลองชัย แต่ตามธรรมเนียมผู้ชนะ ต้องมีผ้าคล้องคอ ปลอกเขา หรือเสื้อสามารถ ส่วนผู้แพ้ ถ้าเป็นวัวที่ชนครั้งแรก จะเสี่ยง ๕๐/๕๐ ที่จะถูกส่งไปอยู่บนเขียงเนื้อ หรือเลี้ยงต่อไปชนครั้งที่ ๒ การแพ้ของวัวที่ชนมานานหกเจ็ดครั้ง จะถูกปรนนิบัติในสองลักษณะ หนึ่ง - ปล่อยให้อยู่ตามธรรมชาติในแปลงหญ้า เป็นพ่อพันธุ์จนสิ้นอายุขัย สอง - เสี่ยงให้ชนดูอีกสักครั้ง เพราะวัวพรรค์นี้ ถือว่ามีน้ำอดน้ำทนใช้ได้ ที่แพ้อาจเพราะแพ้ทางก็เป็นได้ พอขายแล้วชาวบ้านจะมองหาลูกวัวตัวใหม่ที่มีแววต่อไป วัวโหนดนำโชคเป็นวัวที่แทงดีฝีเขาจัดจ้าน แต่มันไม่เคยชนนาน ๆ เพราะคู่ต่อสู้เจ็บ และยอมแพ้ไปก่อนเสียทุกครั้ง เหมือนนักมวยไม่เคยชกมากยก เมื่อมาเจอวัวโคขาวเพชฌฆาต ซึ่งเขาไม่ได้ยาวนัก แต่โครงสร้างร่างกายแข็งแรง คร่อมอกใหญ่เลยแพ้ทางชนกัน เมื่อมันหันหลังวิ่งลุงดำโบกมือขอไม่ "เกียดวัว" ด้วยการเอาไม้ยาว ๆ ไปไล่ให้มันสู้ต่อ แกเคยบอกไว้ว่า ตามสายตาของคนดู การเกียดวัวน่าจะเป็นสิ่งน่าสมเพชที่สุดของเกมชนวัว ส่วนไอ้นิลก็ชนะในลักษณะที่ไอ้โหนดแพ้นั่นละ แบบที่ครูจุ๋มพูดไว้ "ไอ้นิลไม่ต้องทำอะไรมาก เลี้ยวกินข้าง ๆ แล้วขึ้นคร่อมอยู่ข้างบนด้วยน้ำหนักตัว ๗๐๐ กว่ากิโลกรัมโถมขึ้นทับทำให้อีกตัวต้องยก "รื้อ" ด้วยพละกำลังทั้งหมด มันก็หมดเรี่ยวแรงแพ้ไปเอง วัวแพ้ ลุงดำและลูกน้องไม่มีคำโอดครวญ หาเหตุจากการพ่ายแพ้ต่อกัน ถ้าแม้นมีอยู่ก็เป็นเพียงพูดตัดพ้อ หยอกล้อด้วยเสียงหัวเราะแค่น ๆ ระหว่างแกกับเด็กที่ช่วยเลี้ยงวัว ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งเท่านั้น ลงท้ายด้วยวลีที่ให้กำลังใจว่า "ไม่พลือ...เอาใหม่" ไม่ยอมแพ้ ไอ้โหนดที่มันวิ่งรอบสนาม ลุงดำก็ตามเอาเชือกจูงวัวโยนใส่ให้มันด้วยแววตาห่วงใย แสดงสัมพันธภาพอันลึกซึ้ง ไม่แผกต่างจากตอนที่แกเชียร์.... จนหายตื่นแล้วจึงเข้าจับเทียนที่จมูกของมัน

ขอขอบคุณ วิโชติ เกตุชาติ สันติ เกตุชาติ เปลี่ยน เกตุชาติ ผู้ใหญ่บ่าว มาแก้ว ลุงเล็ก-ป้าประมวล ศิลปผล และเจ้าของวัวชน ผู้ดูแลวัวชนทุกท่านที่ให้ความร่วมมือในการทำสารคดีเรื่องนี้

หนังสือประกอบการเขียน วัวชนกับคนใต้ จรัญ จันทลักขณาและผกาพรรณ สกุลมั่น บรรณาธิการ "ชนวัว" สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ โดยวิเชียร ณ นคร

สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ อาคม เดชทองคำ เบื้องหลังงานวิจัย หัวเชือกวัวชน
"ชนเหล่าใด ใครก็ตามที่ยิ่งมีปฏิกิริยาตอบโต้อันแข็งกร้าว แต่ขาดเหตุผลในเชิงวิชาการ ต่อการค้นพบโดยผ่านการพิสูจน์ซ้ำ จนตกผลึกในงานศึกษาวิจัยเรื่องหัวเชือกวัวชนมากเท่าใด ก็จะยิ่งเป็นการชี้ชัดว่า "ข้อค้นพบ" ในงานวิจัยชิ้นนี้มีความเป็นจริงมากขึ้นเพียงนั้น" อาคม เดชทองคำ กล่าวประโยคนี้ไว้ที่ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช ที่เขาสอนเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๔๓ -- เป็นช่วงเวลาที่ตัวท่านเองต้องหลบไปยังที่สงบ และปลอดภัยเป็นครั้งคราว รอให้เรื่องคลี่คลาย

วัวชนนั้นเกี่ยวกับที่มามีผู้เห็นแยกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกมีความเห็นว่า การเลี้ยงวัวไว้ชนกัน เป็นแบบฉบับของภาคใต้โดยเฉพาะ มิได้เอาแบบอย่างจากที่อื่นทั้งในและนอกประเทศ "จังหวัดในภาคใต้ที่นิยมเลี้ยงก่อนใครอื่น คือจังหวัดนครศรีธรรมราช และพัทลุง แล้วได้กระจายไปตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภาคใต้และบางจังหวัดในภาคกลาง และภาคเหนือในเวลาต่อมา" ขณะที่ผู้รู้บางท่านเสนอว่า ชาวไทยภาคใต้ น่าจะได้กีฬาประเภทนี้มาจากพวกโปรตุเกส กล่าวคือในสมัยพระเจ้าเอมมานูเอลแห่งโปรตุเกส ได้แต่งทูตเข้ามาเจริญพระราชไมตรีกับสยามใน พ.ศ. ๒๐๖๑ ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา นับเป็นฝรั่งตะวันตกชาติแรก ที่เดินเรือเข้ามาค้าขายกับสยาม และได้ทำการค้าขายในสี่เมืองรวมทั้งนครศรีธรรมราช นอกจากทำการค้าแล้ว ชาวโปรตุเกสบางพวกยังได้เผยแพร่ขนบธรรมเนียมไว้หลายอย่าง เช่น การติดตลาดนัด การทำเครื่องถม และการชนวัว เป็นต้น งานวิจัยว่าด้วยวัวชน การชนวัวก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายหน หลากหลายจุดประสงค์ของการวิจัย แต่ก็ไม่เคยมีคนใต้เดือดร้อน กระทั่งเมื่อชิ้นงาน "หัวเชือกวัวชน" ที่ อาคม เดชทองคำ เสนอเป็นส่วนหนึ่งของชุดงานวิจัย "โครงสร้างและพลวัตวัฒนธรรมภาคใต้กับการพัฒนา" โดยศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เป็นหัวหน้าโครงการ "กลายเป็นข่าว" เมื่อ "ส่วนควบ" ของงานชิ้นนี้ขุดเอากำพืดพื้นผิว (surface trait) และกำพืดซ่อนเร้น (sources trait) เฉพาะตัวของประชาคมปักษ์ใต้กลุ่มหนึ่งมาพิสูจน์ซ้ำอีกครั้ง เป็นต้นว่า

คนปักษ์ใต้มีท่าทีแข็งกร้าว ตรงไปตรงมา มีความเชื่อมั่นในตนเองและมีอัตตาสูง ทำตัวเป็นหัวเรือใหญ่ ชิงการนำ ดิ่งเดี่ยว เสี่ยงสู้ ไม่ยอมรับนับถือหรือนิยมยกย่องใครง่าย ๆ ไม่ยอมเสียเปรียบเสียรู้ใครง่าย ๆ ชอบศึกษาหาความรู้เพื่อจะได้รู้เท่าทัน มีท่าทีไว้เชิง และไม่เปิดตัวก่อน เมื่อพบคนแปลกหน้า นิสัยการบริการต่ำ ค่อนข้างเฉียบขาด รักใครรักจริง เกลียดใครเกลียดจริง เป็นคนรักหมู่คณะของตน นอกจากนี้ยังกล่าวถึง พฤติกรรมเบี่ยงเบนของผู้ที่ใกล้ชิดกับสังเวียน และผู้ประกอบการวัวชนโดยเฉพาะ คือ ความชื่นชอบคนที่เป็นนักเลง (ตามนิยามของพวกเขา) ซึ่งให้ความสำคัญต่อความกล้าได้ กล้าเสีย ความเฉียบขาด ไม่ยอมแพ้ใคร และไม่รู้จักแพ้ เป็นต้น บุคลิกภาพเหล่านี้ ตามสายตาของคนต่างกลุ่ม ต่างวัฒนธรรม อาจมีความรู้สึกว่าเป็นคนแข็งกระด้าง ปกครองยาก ดุ ดื้อรั้น ไม่น่าไว้วางใจ-- "คบยาก" ทั้ง ๆ ที่โจทย์วิจัยหรือคำถามหลักของ "หัวเชือกวัวชน" คือ การหาสายสัมพันธ์ ระหว่างวัวชนกับผู้เลี้ยงวัวชน และกลุ่มเครือข่ายเป็นย่านใยในวัฒนธรรมการชนวัว ทั้งในบ่อนและนอกบ่อน จึงได้กำหนดให้การชนวัว เป็นสัญลักษณ์ในการอธิบายทั้งบุคลิกภาพพื้นผิว และบุคลิกภาพซ่อนเร้น และประโยชน์ที่เป็นผลพวงคือ ความพยายามจะหาคำตอบให้แก่คำถามที่ว่า การชนวัวในฐานะ ที่เป็นส่วนหนึ่งของคติชาวบ้านปักษ์ใต้ (นครศรีธรรมราช) มีนัยสัมพันธ์กับโครงสร้าง และพลวัตวัฒนธรรมภาคใต้ กับการพัฒนาหรือไม่อย่างไร สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ และตัวผู้วิจัยจึงตั้งข้อสังเกตว่า การที่มีข่าววิจารณ์อย่างรุนแรงนั้น สาเหตุใหญ่เกิดจากผู้วิจารณ์ ยังไม่ได้อ่านตัวงานวิจัยโดยตรง ทำให้เกิดความสับสน เช่น - เมื่อพูดคำว่า "การไว้เหลี่ยมไว้เชิง" ก็จะมีส่วนขยายด้วย "ภายใต้กติกา" จึงไม่ได้หมายถึงการใช้เล่ห์เหลี่ยม - ที่ว่า "แม้ไม่ได้เปรียบ แต่ต้องไม่เสียเปรียบ" ไม่ได้หมายถึง ชอบเอาเปรียบผู้อื่น แต่ไม่ยอมเสียรู้เสียเชิงผู้อื่นง่าย ๆ

ต่อไปนี้นักวิจัยทั้งสองท่านจะเปิดเผยถึงประเด็นที่อาจยังค้างคาใจ พร้อม ๆ กัน
สารคดี :
ที่ว่าสังคมการชนวัว สร้างนักเลงปักษ์ใต้ขนานแท้ หมายความว่าอะไร
ศ. สุธิวงศ์ :
โดยวัฒนธรรมพื้นบ้านหมายถึง คนที่มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะ รักความยุติธรรม ขนาดว่าลูกตัวเองผิดก็ลงโทษ นักเลงเขาจะไม่เอาเปรียบใครเด็ดขาด ยกคนที่ควรยก ข่มคนที่ควรข่ม ไม่ใช่นักเลงหัวไม้ ไม่ใช่อันธพาล ซึ่งบอกได้เลยว่า เดี๋ยวนี้ไม่มีนักเลงเช่นในอดีตแล้ว ถ้ามีใครมาถามผมว่า นักการเมืองปักษ์ใต้มีใครบ้างเป็นนักเลง ตอบได้ว่าไม่มี ในทุกวงการ มีการเอารัดเอาเปรียบกัน มากกว่ารู้แพ้รู้ชนะ ถึงได้ว่าเป็นวัฒนธรรมเก่า ที่เราเพรียกหายังไง ถ้ามันกลับคืนมาจะเป็นพลัง เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน หรือการพึ่งตนเอง
สารคดี :
จะไม่ถือว่าเป็นพวกโหยหาแต่หนหลัง (nostalgia) กับอดีตที่ย้อนกลับคืนมาไม่ได้หรือ
ศ. สุธิวงศ์ :
ไม่มีไม่ได้หมายความว่า ทำให้เกิดขึ้นใหม่ไม่ได้ แต่หมายถึง เราต้องเริ่มกลับไปหานิยามความคิดแบบเก่า นักเลงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ที่มีผลต่อการพัฒนา ปัญหาอยู่ที่ว่า ถ้าเราเอามาใช้ในทางที่กลาย ความหมายเป็นนักเลงอันธพาลก็เสีย คนไม่อาจเข้าใจลึกลงไป ในส่วนที่เป็นส่วนดี เราอยากให้เห็นว่ารากฐานของการเล่นวัวชนเป็นสิ่งดี ทั้งหมดนี้เหมือนน้ำใสปนอยู่ในน้ำขุ่น แต่พอตอนหลังน้ำขุ่นมันมากกว่า ทำอย่างไรจึงกรองเอาน้ำใสออกมาใช้ประโยชน์ เอาน้ำขุ่นทิ้งไป ที่พูดเรื่องนี้เพราะของดีมันมีอยู่แล้วในอดีต จึงง่ายที่จะนำกลับมา
สารคดี :
การเอาชนะกันของวัวชน มีความพิเศษอย่างไร เมื่อเทียบกับไก่ชน ปลากัดซึ่งภาคไหน ๆ ก็มีเล่น
อ. อาคม :
วัวชนบ่งชี้ถึงความเพียรพยายามที่จะเอาชนะ เด่นชัดกว่าอย่างอื่น ต้องเลี้ยงเป็นปี ๆ จึงได้ชน คนเลี้ยงใช้มากกว่าสองคนขึ้นไป ไก่ชนเลี้ยงคนเดียว สามเดือนก็ได้ชน ชนวัวมีความยิ่งใหญ่ของเครือข่ายสายสัมพันธ์ เวลาชนะแต่ละครั้ง วัวชนมีวิธีการแสดงออกถึงชัยชนะที่ยาวนาน ยิ่งใหญ่และเป็นทางการกว่า พอชนะก็รู้ได้เลยว่า จะต้องมีวัวอื่นมาเทียบเคียงเป็นคู่ชนคราวต่อไป
ศ. สุธิวงศ์ :
ชนวัวมีกลุ่มผู้เล่นกว้างขวางกว่า คนที่เล่นก็ต้องมีระดับสูงกว่าด้วย กัดปลาชนไก่อยู่ในวงที่จำกัด กระบวนการจัดการไม่ซับซ้อน วัวชนต้องเตรียมการเป็นพิธีรีตอง มีกลุ่มจัดการที่ชัดเจน แล้วฐานของวัฒนธรรมการชนวัว มันมีส่วนร่วมสัมพันธ์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ถ้านักการเมืองสามารถประสานกับคนกลุ่มนี้ได้ ก็นับว่าเป็นฐานคะแนนเสียง ที่มีความสำคัญมากพอสมควร
สารคดี :
เท่าที่ทราบ ชนวัวเป็นเกมที่ต่อสู้และตัดสินกันอย่างยุติธรรม ไม่เคยมีการร้องเรียนต่อทางสนาม ทำไมอาจารย์จึงไม่ชูบุคลิกนี้ของคนใต้ แต่กลับเน้นเรื่องไม่ยอมถูกใครเอาเปรียบ
อ. อาคม :
แน่นอน... ถ้าใครมามอบความอยุติธรรมให้เขา เขาก็จะถามหาความยุติธรรม ดูตัวอย่างได้จากการเช็ดล้างก่อนชนวัว ความจริงอาจเป็นแบบนั้น แต่เราใช้ถ้อยคำที่ครอบคลุมไปไม่ถึง ไม่เจตนาจะเสนอแต่ในแง่ลบอย่างเดียว
สารคดี :
ถึงขณะนี้อาจารย์ยังยืนยัน ที่จะตีความบุคลิกภาพของคนใต้ ในแบบเดิมหรือ
อ. อาคม :
ผมยังยืนยันการตีความเดิม แต่เพียงในกรอบของวัวชนหกบ่อนทั่วนครฯ เท่าที่ศึกษาเท่านั้น เมื่อข้อมูลเป็นอย่างนี้จะตีความเป็นอื่นไม่ได้ แต่ก็ไม่มีใครอธิบายตรงนี้ได้ด้วยข้อมูลล้วน ๆ ต้องมีความเป็นส่วนตัวเข้าไปบ้าง แต่คนอ่านต้องวินิจฉัยได้ว่า ระหว่างความจริงที่ปรากฏ กับอคติของผู้ตีความอะไรมากกว่า ใน ๑๐ ส่วนเป็นข้อเท็จจริงเสีย ๘ ส่วนก็ถือเป็นปรกติวิสัยของงานวิจัย
ศ. สุธิวงศ์ :
บุคลิกภาพนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานวิจัย ซึ่งไม่ใช่เรื่องของกรรมพันธุ์ แต่เป็นเรื่องการเรียนรู้ ได้คุ้นเคยอยู่กับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นลักษณะทั้งหลายเหล่านี้ ก็มาอยู่ในนักพนันวัวชน หรือคนใกล้ชิดในเครือข่าย เรื่องหัวเชือกวัวชน ก็ไปตอบคำถามของคนทั้งภาคใต้ไม่ได้
สารคดี :
จุดดีด้านอื่น ๆ ของการเลี้ยงวัวชนมีอะไรบ้างครับ
ศ. สุธิวงศ์ :
จุดดีทางสรีระหรือพัฒนาสายพันธุ์วัวชน ไปสู่การเลี้ยงวัวเพื่อกิจกรรมอื่น การที่เขาทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับวัวชน นับว่าฉันทะ วิริยะเกิดขึ้น หรือการที่วัวชนสามารถสร้างเครือข่ายชาวบ้าน ก็นับว่าเป็นผลดี เขารู้สึกว่านี่เป็นวัฒนธรรมของเขา
สารคดี :
นอกจากที่กล่าวแล้ว ข้อสรุปที่ได้จากงานวิจัยของอาจารย์อาคมคืออะไร
อ. อาคม :
ต้องดูจากคำถามวิจัยของเรื่อง คือเป็นการค้นหาโครงสร้าง พลวัตของกลไกในท้องถิ่นว่ามันเกิดขึ้น ดำรงอยู่ในลักษณะใด โดยใช้วัวชนเป็นเครื่องมือ ผมค้นพบคนกลุ่มหนึ่งในนครศรีธรรมราช ซึ่งกลไกโครงสร้างส่วนนี้มีความแข็งแกร่ง ยึดโยงกันเหนียวแน่นในแวดวงตัวเอง โดยตัวบ่งชี้ในการอธิบาย ในที่นี้หมายถึงคติหรือตาหนาว่า ต้องทำอย่างนี้ถึงเอาชนะได้ ถ้าเลี้ยงวัวแบบปล่อยปละละเลย ไม่มีทางเอาชนะ โดยเฉลี่ยคนกลุ่มนี้ เป็นคนชอบเอาชนะ โดยใช้วัวเป็นสัญลักษณ์ตัวแทน แล้วคนกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว แต่โยงกับครอบครัว เพื่อนบ้าน ซึ่งคนกลุ่มอื่น แม้ไม่ชอบการชนวัวแต่ก็ไม่ปฏิเสธ
เมื่อพบกลไกอย่างนี้ คนใต้มีนิสัยทางลึกแบบนี้ ถ้าคุณจะพัฒนา จะมีนโยบาย และท่าทีต่อคนกลุ่มนี้อย่างไร จะสั่งการจากบนลงล่างอีกหรือ หรือจะเริ่มต้นจากหารือร่วมกัน เพื่อจะบอกว่าคุณมีเกียรติยศศักดิ์ศรีเท่ากัน ไม่มีใครเป็นนายใครเป็นไพร่ แต่อย่างนี้ส่วนราชการไม่นิยมกระทำ เสียเวลา... รำคาญจะหารือกับชาวบ้าน ชาวบ้านมันตั้งข้อสังเกตทักท้วงเก่ง ที่จะจัดการทรัพยากร แต่ถูกปิดกั้นมาตลอด ที่ผ่านมารัฐไม่เคยศึกษา ค้นหา ตรวจสอบฐานรากของชุมชนจริง ๆ หรืออาจตรวจสอบแล้วเพิกเฉยเสีย

ชาวประมง

ชาวประมงพื้นบ้านในภาคใต้ สภาพปัญหากับข้อเสนอเชิงนโยบายโดย : สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ เมื่อ : 6/12/2007 10:09 AM
ขณะที่อาหารทะเลขึ้นโต๊ะเหลาราคาแพงลิ่ว ประเทศไทยมีผลผลิตการประมงส่งออกมากติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ทำไมชาวประมงผู้หาปลายังยากจน เป็นคำถามที่ชวนคิดหาคำตอบสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้คลุกคลีกับชาวประมงมากนัก แต่สำหรับชาวประมงพื้นบ้านแล้ว มันกลับเป็นความจริงอันขมขื่น เพราะว่าสัตว์น้ำสดๆที่ขึ้นโต๊ะอาหารและส่งออกนั้น เข้ากระเป๋าคนหาปลาเพียงน้อยนิด และต้องเผชิญกับปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสัตว์น้ำที่ร่อยหรอลง โดยที่เขาเหล่านั้นแทบไม่ได้ก่อขึ้น ข้อเขียนนี้จะพยายามชี้ให้เห็นข้อเท็จจริง พร้อมทั้งเสนอแนวทางออกจากปัญหาข้อเท็จจริงนั้น (๑) ทะเลไทย เราควรรู้ว่า ประเทศไทยนั้นมีพื้นที่ชายฝั่งติดทะเล ๒๓ จังหวัด ชายฝั่งทะเลมีความยาวรวมทั้งสิ้นประมาณ ๒,๘๑๕ กิโลเมตร แบ่งเป็นชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยมีความยาวประมาณ ๑,๘๖๑ กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ ๑๗ จังหวัด และทะเลชายฝั่งพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน มีความยาวทั้งสิ้น ๙๕๔ กิโลเมตร สำหรับในภาคใต้นั้นจัดเป็นสามทะเล คือ ทะเลภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ทะเลฝั่งอันดามัน รวมความยาวทั้งสองฝั่ง ๑,๖๗๒ กิโลเมตร และทะเลสาบสงขลาซึ่งเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่มีพื้นที่ผิวน้ำ ๙๘๘.๓๑ ตารางกิโลเมตร หรือ ๖๑๘,๓๑๙ ไร่ และยิ่งควรรู้ว่า ในท้องทะเลไทยนั้น มีปลากว่า ๒,๐๐๐ ชนิด ซึ่งคิดเป็นร้อยละ ๑๐ ของทั่วโลก หอยประมาณ ๒,๐๐๐ ชนิด สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ รวมกันอีก ๑๑,๙๐๐ ชนิด ในทะเลสาบสงขลามีปลามากกว่า ๗๐๐ ชนิด ปูและกุ้ง ๒๐ ชนิด พันธุ์ไม้น้ำสาหร่ายประมาณ ๕๗ ชนิด นอกจากนั้นชายฝั่งทะเลไทยยังอุดมไปด้วยพืชพันธุ์ไม้ชายฝั่งและใต้น้ำ หลากชนิด ในป่าชายหาด ป่าชายเลน และดงหญ้าทะเล เป็นทั้งแหล่งอาหาร สมุนไพรและพันธุกรรมธรรมชาติที่สำคัญของสังคมไทย ทะเลและทรัพยากรชายฝั่งจึงเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของไทย เป็นที่หาอยู่หากินของชาวประมงพื้นบ้านกว่า ๓, ๗๙๗ หมู่บ้าน ๕๖,๘๕๙ ครัวเรือน ซึ่งร้อยละ ๙๒ เป็นชาวประมงพื้นบ้านอันเป็นส่วนหนึ่งของระบบการผลิตฐานรากค้ำจุนสังคมไทย มานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (๒) ชาวประมงพื้นบ้าน ที่เราควรรู้มากกว่านั้น คือ ชาวประมงผู้จับปลาในสังคมไทยนั้น มี สองกลุ่มหลักๆ คือกลุ่มชาวประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ลงทุนธุรกิจจับสัตว์น้ำเพื่อสร้างกำไรเป็นหลัก และกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านหรือชาวประมงขนาดเล็กซึ่งใช้แรงงานจากสมาชิกในครัวเรือนเป็นส่วนใหญ่ บางครอบครัวไม่มีเรือ บางครอบครัวใช้เรือไม่มีเครื่องยนต์ หรือใช้เรือมีเครื่องยนต์นอกเรือ (เรือหางยาว) หรือใช้เรือมีเครื่องยนต์ในเรือขนาดระวางบรรทุกต่ำกว่า 5 ตันกรอสเรือที่ใช้จะเป็น เรือหางยาว หัวโทง กอและ หรือท้ายตัดเป็นส่วนใหญ่ ชาวประมงพื้นบ้านจะใช้เครื่องมือประมงแบบพื้นบ้าน ที่ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นเองใช้วัสดุในท้องถิ่น ที่มีลักษณะเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ที่สำคัญ คือ เลือกจับสัตว์น้ำได้เฉพาะชนิด เฉพาะอย่าง เช่น อวนลอยปลา อวนลอยกุ้ง อวนจมปู แห เบ็ด ลอบ ไซ ลอบปลาหมึก หยองดักปู ใช้เครื่องมืออื่นๆผลัดเปลี่ยนไปตามความชุกชุมของสัตว์น้ำที่เข้ามาชายฝั่ง เช่น ระวะรุนเคย สวิงช้อนแมงกะพรุน ลอบปลา เป็นต้น เครื่องมือที่เพิ่มขึ้นมาในระยะหลัง ได้แก่ ลอบและจั่นหอยหวาน ลอบลูกปลากะรัง เป็นต้น ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ การสำรวจสำมะโนประมงทะเลของสำนักงานสถิติแห่งชาติและกรมประมง พบว่าประเทศไทยมีหมู่บ้านชาวประมง ๓,๗๙๗ หมู่บ้าน มีครัวเรือนชาวประมงทั้งสิ้น ๕๖,๘๕๙ ครัวเรือน ในจำนวนทั้งหมดนั้นเป็นครัวเรือนประมงขนาดเล็ก ร้อยละ ๙๒ สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมได้รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมไทยปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ไว้ว่า ในปี ๒๕๔๔ มีเรือประมงทั้งหมดที่จดทะเบียนการมีไว้ในครอบครองซึ่งเครื่องมือทำการประมงกับกรมประมง จำนวน ๑๕,๙๔๕ ลำ (กรมประมง ๒๕๔๖) เป็นเรือขนาดใหญ่ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น ๒๓๒ ลำ ที่เหลือเป็นเรือขนาดเล็ก (ขนาดต่ำกว่า ๒๕ เมตร) ซึ่งมีจำนวนลดลง ผลผลิตจากการจับด้วยเทคโนโลยีแบบชาวประมงพื้นบ้านนี่เอง ที่ทำให้ผู้บริโภคได้อาหารทะเลที่สด สะอาด ไม่มีสารพิษ สัตว์น้ำได้ขนาดสมวัย ผิดกับการจับเอาปริมาณมากๆ ออกทะเลหลายวัน หรือใช้เวลาเป็นครึ่งเดือนกว่าจะนำปลาเข้าฝั่ง ที่ต้องผ่านกรรมวิธีแช่ดองไว้ กว่าจะถึงผู้บริโภคต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ และแน่นอนว่าในปัจจุบันนั้นปริมาณการผลิตของชาวประมงพื้นบ้านรวมกันทั้งหมด น้อยกว่าผลผลิตของชาวประมงแบบพาณิชย์รวมกัน จากข้อมูลดังกล่าวเราจะเห็นว่าชาวประมงขนาดเล็ก หรือชาวประมงพื้นบ้านยังเป็นคนส่วนใหญ่ของชาวประมงทั้งหมด และมีนัยยะสำคัญยิ่งในแง่ของความมั่นคงทางอาหารต่อสังคมไทย (๓) สภาพปัญหาชาวประมงพื้นบ้าน
๓.๑ ทรัพยากรเสื่อมโทรม ปัญหาความยากจนของชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็กนั้น จึงเกิดจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งซึ่งเป็นต้นทุนชีวิต ต้นทุนอาชีพ ที่ได้ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วจากการทำประมงด้วยเครื่องมือทำลายประเภทต่างๆ การจับสัตว์น้ำอย่างไม่ยั้งมือ โดยใช้วิธีการประมงที่ทำลายล้าง ได้แก่ การใช้ระเบิด ยาเบื่อ โพงพาง อวนรุน อวนลาก เรือปั่นไฟจับปลากะตัก ฯลฯ และยังมีพัฒนาการของเครื่องมือประมงใหม่ๆออกมาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหลายชนิดมีสภาพทำลายทรัพยากร เช่นกัน นโยบายการผลิตสัตว์น้ำจำนวนมากเพื่อขายส่งออก นำรายได้เข้าประเทศ เป็นฐานคิดสำคัญที่ส่งผลให้มีการจับสัตว์น้ำจำนวนมหาศาลเพื่อขาย สร้างความร่ำรวย แต่ข้อเท็จจริงคือ มีคนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ในขณะที่ได้ทำลายความมั่นคงของประชาชนจำนวนมากไป เมื่อทรัพยากรเสื่อมโทรม กลับกล่าวโทษซ้ำเติมชาวประมงพื้นบ้านผู้ที่เสียเปรียบอยู่แล้ว เป็นด้านหลัก โดยพยายามชี้ว่า ชาวประมงพื้นบ้านมีจำนวนมากเกินไป จนทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากร ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำของไทยเสื่อมโทรมจนวิกฤติในปัจจุบัน การพัฒนากิจการประมงไทยตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประมาณปี ๒๔๘๘ และทิศทางการพัฒนาประเทศมุ่งเน้นเศรษฐกิจจากการส่งออก ทรัพยากรประมงไทย ถูกเร่งจับมากขึ้นและทรุดลงอย่างรวดเร็ว มีการพัฒนากฎหมายประมงจาก พ.ร.บ. อากรค่าน้ำ ร.ศ. ๑๒๐ เป็น พ.ร.บ. การประมง ๒๔๙๐ ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เริ่มมีการส่งเสริมการทำประมงอวนลากหน้าดิน หลังจากปี ๒๕๐๓ การทำประมงขนาดใหญ่ของไทยด้วยอวนลากหน้าดินขยายตัวอย่างรวดเร็ว หลังปี ๒๕๐๓ เพียง ๕ ปีทรัพยากรสัตว์น้ำในอ่าวไทยทรุดโทรมลงทันที เรือประมงขนาดใหญ่ออกจากฝั่งไกลขึ้น กองเรือประมงไทยทำการประมงพื้นที่ชายฝั่ง ๑๒ ไมล์ทะเลของประเทศเพื่อนบ้านด้วย และจากปริมาณการจับจำนวนนั้นประเทศไทยติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ ของประเทศผู้ผลิตสินค้าประมงของโลก ด้วยเช่นกัน ก่อนปี ๒๕๐๓ ไทยจับสัตว์น้ำได้ปีละ ๑๕๐, ๐๐๐ ตัน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึง ๑.๕ ล้านตันในปี ๒๕๑๕ และปี ๒๕๒๐ มีการพัฒนาอวนล้อมจับปลาผิวน้ำปริมาณสัตว์น้ำ จับได้เพิ่มเป็น ๒ ล้านตัน และ ๒.๘ ล้านตันในปี ๒๕๓๘ จากนั้นเริ่มลดลงเหลือ ๒.๗ ล้านตันในปี ๒๕๔๑ พร้อมกับปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้เพิ่มขึ้น ทะเลไทยก็ได้เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ปี ๒๕๐๔ จากที่เคยจับสัตว์น้ำด้วยอวนลากในอ่าวไทยได้ชั่วโมงละ ๒๙๘ กิโลกรัม ลดลงเหลือเพียงชั่วโมงละ ๒๐ กิโลกรัมในปี ๒๕๓๒ จนในปี ๒๕๔๑ พบว่าบางครั้งสามารถจับสัตว์น้ำได้เพียง ๗ กิโลกรัมต่อชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนี้ปลาที่จับได้เป็นปลาขนาดเล็กและลูกปลาเศรษฐกิจร้อยละ ๔๐ และล่าสุดปี ๒๕๔๖ พบว่าสามารถจับสัตว์น้ำได้ค่าเฉลี่ยร้อยละ ๑๙.๒๒ กิโลกรัมต่อชั่วโมงอวนลาก และค่าต่ำสุดร้อยละ ๒.๓๘ กิโลกรัมต่อชั่วโมง เท่านั้น ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้เป็นกลุ่มปลาเศรษฐกิจได้ (ขนาด) ร้อยละ ๓๘.๕๐ และเป็นปลาเป็ดและลูกปลาเศรษฐกิจขนาดเล็กถึงร้อยละ ๖๑.๕๐ สรุป คือ ความเสื่อมโทรมของสัตว์น้ำทะเล จึง เกิดจากเครื่องมือประมงเกือบทุกประเภทที่จับสัตว์น้ำ ได้มาก ชนิด หลายขนาดกว่าที่ต้องการ ทำให้เกิดการประมงมวลชีวภาพ คือ การทำประมงโดยมุ่งกวาดเอาสัตว์ทะเลทุกชนิดในคราวเดียวกัน การประมงที่ยั่งยืน จึงต้องพิจารณากันที่กลวิธีในการจับ จับอย่างไร ใช้อย่างไรให้พอกับทุกคน และเหลืออยู่ให้เกิดก่อหน่อเนื้อใหม่ ดังนั้นการจัดการประมงที่สำคัญ คือการควบคุมการใช้เครื่องมือ เช่นควบคุมตาอวน, จำนวน, พื้นที่ที่ทำการประมง, ช่วงเวลา, ควบคุมสัตว์น้ำที่จับ เครื่องมือบางประเภทต้องควบคุมโดยเด็ดขาด แต่อีกหลายประเภทไม่ได้เป็นแบบทำลายโดยตัวมันเองโดยลำพัง แต่จะเปลี่ยนไปตามองค์ประกอบและวัตถุประสงค์ ๓.๒ ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านไร้สิทธิในที่อยู่อาศัย อาชีพจับปลาต้องอยู่กับทะเล การอาศัยอยู่ชายฝั่งทะเลจึงเป็นความสำคัญประการแรกของชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน ในยุคก่อน ก่อร่างสร้างตัวด้วยความยากจน บ้านเรือนตั้งอยู่ใกล้ทะเล เพื่อสะดวกในการออกทำการประมง มีที่เก็บเรือ มีพื้นที่กว้างพอในการถอยเรือ สะดวกในเวลาน้ำขึ้นน้ำลง หลบลม หลบคลื่นได้ หรืออยู่ใกล้แนวคลอง เนื่องจากที่มีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศน์ชายฝั่ง เกิดการอพยพโยกย้าย ตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยในบริเวณชายฝั่งมาเป็นเวลาช้านาน ทั้งที่มีเอกสารสิทธิ์แล้วและยังไม่มีเอกสารสิทธิ ก่อร่างสร้างตัวจากการออกหาสัตว์น้ำ กุ้งหอยปูปลา ด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้าน มีลูกมีหลาน พากันสืบทอด กลายเป็นชุมชนสืบเนื่องมา เมื่อทุกอย่างพัฒนาขึ้น ผู้คนมากขึ้น กอร์ปกับกระแสการบุกรุกพื้นที่ชายฝั่งเพื่อการอุตสาหกรรม การเพาะเลี้ยงชายฝั่ง เช่น การเลี้ยงกุ้งกุลาดำ การบุกรุกยึดครอง ได้ทำให้เกิดความสับสนขึ้นในสังคมและภาครัฐ ว่าเป็นการบุกรุกเพื่อที่อยู่อาศัยของชุมชน จากความคิดความเชื่อที่สับสน และการประกาศนโยบายพื้นที่ชายฝั่ง เป็นเขตอนุรักษ์ พื้นที่ที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านจึงถูกละเลย พื้นที่ที่ไม่ได้รับการรับรองสิทธิมาก่อนถูกกดดันให้รื้อถอน และเริ่มมีมาตรการของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ห้ามอยู่ชายฝั่ง หรือต้องขออนุญาตก่อน ทำให้ การตั้งชุมชนอยู่ของชาวประมง ถูกตีค่าว่าบุกรุกที่สาธารณะ กลายเป็นเป้าหมายในการจัดระเบียบซึ่งอาจทำให้ชายหาดสวยงาม แต่จะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนของชาวประมงพื้นบ้าน ในกรณีชุมชนชาวมอแกน มอแกลน และอูรักลาโว๊ย ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธ์ดั้งเดิม อาศัยพึ่งพิงทรัพยากรทางทะเลมาแต่บรรพบุรุษ บางกลุ่มมีสิทธิในที่อยู่อาศัยอยู่เดิมแต่จะพบปัญหาถูกยึดครองโดยผู้อื่น เพราะไม่เท่าทันกลโกงทำให้ถูกลวงเอาที่ดินไปในหลายกรณี บางกลุ่มไม่มีถือสิทธิเหนือที่ดินที่อยู่เดิม มักพบปัญหาว่าชุมชนเหล่านั้นตกเป็นจำเลยข้อหาเป็นผู้บุกรุก เป็นผู้ทำผิดกฎหมายเมื่อมีการประกาศพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติทับพื้นที่ ในส่วนการแก้ไขปัญหาด้วยการจัดที่อยู่อาศัยให้ชุมชนเหล่านั้น มักพบปัญหาความไม่เข้าใจในวิถีชีวิตนำไปสู่การละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งที่พวกเขาต่างเป็นพี่น้องมนุษยชาติเช่นเดียวกับเรา และสิทธิที่เขาควรได้รับก็เป็นของเขามาแต่เดิม... ๓.๓ อุทยานแห่งชาติทางทะเล ละเมิดสิทธิชุมชนท้องถิ่น หลังปี พ.ศ.๒๕๒๔ ได้มีการเร่งประกาศแนวเขตอุทยานในพื้นที่ทะเล ชายฝั่ง และเกาะ เกิดขึ้นในหลายท้องที่ จนยี่สิบปีต่อมาในปัจจุบัน มีอุทยานแห่งชาติทางทะเล ๒๑ แห่ง รวมเนื้อที่ประมาณ ๓,๕๘๖,๘๗๙ ไร่ และอยู่ในภาคใต้ ๑๗ แห่ง ฝั่งตะวันออก ๒ แห่ง และ ฝั่งตะวันตกอีก ๑๕ แห่ง หากนับตามปริมาณพื้นที่ นับเป็นนิมิตหมายที่ดีในการรักษาทรัพยากรให้ยั่งยืน แต่อุทยานแห่งชาติทางทะเลได้ประกาศแนวเขตครอบคลุมผืนน้ำเข้าไปด้วย เมื่อเป็นผืนน้ำซึ่งเป็นแห่งทำการประมงหาอยู่หากินมาแต่เดิม กลายเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ทำให้ที่อยู่อาศัยและที่ดินของชาวประมงพื้นบ้านที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิรับรองผิดกฎหมายอุทยาน การจับสัตว์น้ำในทะเลของชาวประมงพื้นบ้านเป็นสิ่งผิดกฎหมายในทันที รวมถึงวิถีการพักพิงเกาะเพื่อทำการประมง ทั้งที่เป็นกลุ่มชาวเลและชาวประมงเชื้อสายมาลายูก็กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ในทางกลับกันกลับเกิดกรณีปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติให้แก่กลุ่มนายทุนโดยมิชอบ เกิดขึ้นจำนวนมาก เกิดกรณีการจับกุมชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดระนอง และจังหวัดพังงาซึ่งกำลังทำอวนลอยกุ้ง, กรณีชาวประมงพื้นบ้านเกาะลันตา ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯยิงปืนขับไล่ ขณะกำลังทำการประมง, และกรณีบุกเผาทับชาวประมงหรือที่พักของชาวประมงพื้นบ้านบนเกาะไม้ไผ่และเกาะพีพี เป็นต้น ภายใต้ปัญหาดังกล่าว หน่วยงานของรัฐบาลเองเริ่มตระหนัก เกิดแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น โดยทางกรมอุทยานแห่งชาติได้มีนโยบายในปี ๒๕๔๕ ให้มีการผ่อนผันให้ชาวประมงทำการประมงในเขตอุทยานได้ โดยต้องไม่กระทำผิด พ.ร.บ.การประมง ปี ๒๔๙๐ แต่ในระยะยาวจะต้องดำเนินการปรับปรุงแนวเขตอุทยานโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติและกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ ๔ ฉบับ ภายใต้ทางเลือกในการจัดการทรัพยากรใหม่ๆ ๓.๔ ปัญหาโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง ท่าเทียบเรือ การทำลายพื้นที่ชายฝั่ง การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง เช่น การก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก การขุดลอกร่องน้ำเพื่อการเดินเรือขนาดใหญ่ในทะเล ท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยว เขื่อนกั้นตลิ่งและกันคลื่น โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ มีผลกระทบโดยตรงในการทำลายทรัพยากร จากการขุดทำลาย ขนย้าย ตะกอนทับถม น้ำเสีย ฯลฯ เช่น การขุดลอกร่องน้ำที่ ต.เกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่, ท่าเทียบเรือและแนวกันคลื่นที่ ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา, ท่าเทียบเรือน้ำลึก จ.สงขลา, ท่าเทียบเรือ อ.จะนะ จ.สงขลา, ท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล, ท่าเทียบเรือน้ำลึกและการขุดลอกร่องน้ำที่เกาะลันตา จ.กระบี่ แม้ว่าการเกิดขึ้นของแต่ละโครงการจะอ้างเหตุผลเพื่อการพัฒนา แต่ปัจจุบันกลับมีโครงการลักษณะดังกล่าวมากขึ้นและกระจายอยู่ทั่วไปในภาคใต้ และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีผลในการทำลายทรัพยากรชายฝั่ง และชุมชนท้องถิ่น โดยที่ทุกโครงการชุมชนท้องถิ่นไม่มีโอกาสในการมีส่วนร่วมให้ความคิดเห็นและตัดสินใจ
(๔) สรุปสภาพปัญหา และหนทางชาวประมงพื้นบ้าน ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลนี่เอง ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านซึ่งมีวิถีชีวิต พึงพิง หาอยู่หากินกับทรัพยากร ต้องยากจนแร้นแค้นลงเรื่อยๆ ปัจจุบันค่าครองชีพ ค่าอุปกรณ์และน้ำมันเครื่องยนต์ที่ถีบตัวสูงขึ้น ยิ่งทำให้เส้นทางของชาวประมงพื้นบ้านตีบตันลงทุกที การจับสัตว์น้ำให้ได้มากที่สุดเท่าที่กำลังการจับของเครื่องมือชนิดต่างๆสามารถที่จับได้ เพื่อเป็นสินค้าส่งออกอาจตอบสนองการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและรายได้ประชาชาติของประเทศก็จริง แต่ไม่สามารถตอบสนองความเท่าเทียม ความปลอดภัยของผู้บริโภค และไม่สามารถเป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหารของสังคมเราเองในอนาคต ประกอบกับกระแสสังคมบริโภคทุนนิยมเสรีที่รุนแรงในปัจจุบัน ทำให้ เยาวชน คนหนุ่มสาวในหมู่บ้านชาวประมงจำนวนมาก ละทิ้งอาชีพดั้งเดิมไปใช้ชีวิตในเมืองเป็นแรงงานในโรงงาน เพื่อรับค่าตอบแทนรายเดือน ทั้งที่เงินเดือนแทบไม่พอใช้ เพราะระบบคิดที่สังคมเชื่อว่าถ้าเป็นชาวประมงในทะเล คือความลำบาก ล้าหลัง ยากจน การเป็นแรงงานอยู่ในเมือง คือผู้เจริญ สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้เห็นว่าถ้าทรัพยากรถูกจัดการอย่างเป็นธรรม ไม่มีเครื่องมือทำลาย ผู้คนที่การทำประมงแบบพื้นบ้านก็จะไม่ยากจนอย่างที่เข้าใจ กลับสามารถใช้ชีวิตอย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรีและเป็นผู้เจริญได้ คำกล่าวของ ชาวประมงพื้นบ้านจากจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นจังหวัดที่ได้ชื่อว่า ชาวประมงพื้นบ้านยากจนที่สุดในประเทศไทยว่า "เราไม่มีเงินเดือนจากรัฐเหมือนข้าราชการ ไม่ได้รับเงินจากนายจ้างเหมือนลูกจ้าง แต่เราได้รับเงินเดือนจากทะเล เมื่อทะเลเสื่อมโทรม เราก็ไม่ได้เงินเดือน ไม่มีรายได้... ทะเลก็เหมือนหม้อข้าวเรา เราไม่รักษาหม้อข้าวตัวเอง แล้วใครจะช่วยรักษา" เสียงเรียกร้องจากชาวประมงพื้นบ้านได้ก่อให้เกิดกระแสการอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง ชาวประมงพื้นบ้านจำนวนมากพร้อมใจกันเลิกทำประมงด้วยเครื่องมือทำลายทรัพยากร หันมามุ่งมั่นรักษาทะเล ฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง ปกป้องทะเลจากการทำลายจากคนภายนอกชุมชน เกิดกิจกรรมวางซั้ง วางปะการังเทียมเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรเกิดขึ้นในชุมชนชาวประมงพื้นบ้านมากว่ายี่สิบปี บ้างก็คิดวิธีเก็บหอมรอมริบจนกลายเป็นกลุ่มออมทรัพย์ หวังปลดหนี้สินในอนาคต หลายชุมชนรักษาป่าชายเลนในรูปแบบป่าชุมชน ปรากฏการณ์วิกฤติทางทะเลได้บ่งชี้ให้เห็นว่า ปัญหาวิกฤติของทรัพยากรทะเลไทย ไม่ใช่เรื่องของชาวประมงเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่คนในสังคมไทยต้องหันมาสนใจ ห่วงใย และเอาใจใส่ในการแก้ปัญหากันอย่างจริงจัง... และชาวประมงพื้นบ้านเองก็ไม่งอมืองอเท้ารอการช่วยเหลือ แต่กลับมุ่งมั่นแก้ปัญหาตนเอง นับเป็น ฝันอันยิ่งใหญ่ของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนชายฝั่ง ที่รอการสนับสนุน ส่งเสริมจากเราๆ ท่านๆ...ในอนาคต... (๕) ข้อเสนอ สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ได้เคยเสนอไว้ว่า ควรมีโยบายที่เป็นรูปธรรม และมีมาตรการที่จะนำไปสู่การกู้ และฟื้นฟูทะเล อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาของชาวประมงและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทะเล ทั้งระบบดังนี้
๑. ยกเลิกเครื่องมือการประมงที่ทำลายล้างทุกชนิดโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะ อวนรุน อวนลากเรือปั่นไฟปลากะตัก โดยต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด จริงจัง มีบุคลากร งบประมาณที่เพียงพอการแก้ไขปัญหา ๒. ปรับปรุงเป้าหมายการใช้ทะเลจากเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เป็นเพื่อฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของทะเล และฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพ โดยตระหนักถึงความเกี่ยวพันของระบบนิเวศน์ทะเลซึ่งต่างจากเส้นแบ่งตามเขตการปกครอง ๓. ฟื้นฟูป่าชายเลนโดยให้ชุมชนมีส่วนในการจัดการดูแลรักษา ในรูปแบบป่าชายเลนชุมชน สนับสนุนการออกพระราชบัญญัติป่าชุมชน ตามเนื้อหาและเจตนารมณ์ของประชาชน ปรับปรุงพื้นที่ประกอบอาชีพของชาวประมงพื้นบ้าน โดยการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรริมฝั่งทะเลและแหล่งอาศัยและเพาะพันธ์สัตว์น้ำ เช่น การวางปะการังเทียม วางทุ่นแนวเขตอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล รวมทั้งให้องค์กรและชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง และทรัพยากรประมง ๔. ปฏิรูประบบการทำงานของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับทะเล โดยเปลี่ยนบทบาทหน่วยงานราชการจากผู้กำหนดนโยบายและกุมอำนาจในการบริหารจัดการ ไปเป็นผู้สนับสนุนให้ภาคประชาชนเป็นองค์กรในการดูแลรักษาทะเล และมีอำนาจการบริหารจัดการร่วมกันระหว่างรัฐและประชาชน ทั้งนี้หน่วยงานราชการต้องมีเป้าหมายการทำงานร่วมกัน ขจัดการทำงานที่ซ้ำซ้อน มีการประสานงาน ๕. ปฏิรูปพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ โดยจัดให้มีกระบวนการยกร่างกฎหมายประมงใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วม กระจายอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากร การเคารพสิทธิของชุมชนท้องถิ่น การเสริมสร้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและมาตรการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทะเลและวิถีชีวิตของท้องถิ่น ๖. ดำเนินการปฏิรูปกฎหมายการป่าไม้ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ๔ ฉบับ คือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ๒๕๐๔ พ.ร.บ.ป่าไม้ ๒๔๘๒ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ๒๕๐๗ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ๒๕๓๕ ๗. ทบทวน และวางแผนยุทธศาสตร์พัฒนาภาคใต้ใหม่ทั้งระบบ โดยจัดการอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

วันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2552

การอนุรักษ์ป่าชายเลน

ป่าชายเลน โดย นายสันทัด สมชีวิตา ป่าชายเลน เป็นกลุ่มของสังคมพืช ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไม้ไม่ผลัดใบ มีลักษณะทางเสรีวิทยาและการปรับตัวทางโครงสร้างที่คล้ายคลึงกันและการขึ้นของพรรณไม้ในป่าชายเลน จะขึ้นอยู่กับแนวเขตซึ่งผิดแปลกไปจากสังคมพืชป่าบกทั้งนี้เพราะอิทธิพลจากลักษณะของดิน ความเค็มของน้ำทะเลและการขึ้นลงของน้ำทะเลเป็นสำคัญสำหรับแนวเขตที่เด่นชัดของป่าชายเลน ได้แก่ - โกงกาง ทั้งโกงกางใบเล็กและโกงกางใบใหญ่ จะขึ้นอยู่หนาแน่นบนพื้นที่ใกล้ฝั่งทะเล - ไม้แสมและประสัก จะอยู่ถัดจากแนวเขตของโกง - ไม้ตะบูน จะอยู่ลึกเข้าไปจากแนวเขตของไม้แสมและประสัก เป็นพื้นที่ที่มีดินเลน แต่มักจะแข็ง ส่วนบนพื้นที่ดินเลนที่ไม่แข็งมากนัก และมีน้ำทะเลท่วมถึงเสมอ จะมีไม้โปรง รังกะแท้ และฝาด ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น - ไม้เสม็ด จะขึ้นอยู่แนวเขตสุดท้าย ซึ่งเป็นพื้นที่เลนแข็งที่มีน้ำทะเลท่วมถึงเป็นครั้งคราว เมื่อระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุดเท่านั้น และแนวเขตนี้ถือว่าเป็นแนวติดต่อระหว่างป่าชายเลนกับป่าบก - สำหรับพวกปรงจะพบทั่วๆ ไปในป่าชายเลน แต่จะขึ้นอย่างหนาแน่นในพื้นที่ถูกถางป่าโกงกาง
การอนุรักษ์ป่าชายเลน
ความสำคัญของป่าชายเลน ป่าชายเลน นับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นต่อชีวิตประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศที่มีทรัพยากรประเภทนี้ ประเทศไทยใช้ทรัพยากรป่าชายเลน ทั้งทางด้านป่าไม้ และด้านประมง โดยเฉพาะเป็นแหล่งขยายพันธุ์ และเป็นแหล่งอนุบาลในด้านป่าไม้ ผลิตผลที่ได้จากป่าชายเลน ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศได้มาก ก็คือ การนำไม้จากป่าชายเลนโดยเฉพาะไม้โกงกางมาทำถ่าน นอกจากนี้ ยังนำไปใช้ทำเสาเข็ม สร้างบ้าน และในปัจจุบัน อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการกลั่นไม้จากป่าชายเลน โดยเฉพาะผลิตผลด้านเมทิลแอลกอฮอล์ กรดน้ำส้ม และน้ำมันดิบ เป็นต้น สำหรับในด้านการประมง ป่าชายเลนถือว่าเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญต่อสัตว์น้ำนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นพวกกุ้ง หอย ปู และปลา วงจรชีวิตของสัตว์น้ำเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กับป่าชายเลนอย่างมาก ทั้งในด้านเป็นที่อยู่อาศัย แหล่งเพาะพันธุ์ และการเจริญเติบโต ป่าชายเลนสามารถผลิตอาหารแร่ธาตุหลายชนิด โดยได้จากการร่วงหล่นและสลายตัวของเศษไม้ ใบไม้ ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศป่าชายเลน จะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์น้ำกับป่าชายเลนนั้นมีมากมาย หากมีการทำลายป่าชายเลนลงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเหล่านี้จะหมดไป และในที่สุด ทรัพยากรสัตว์น้ำก็จะลดปริมาณลง หรือหมดไปอีกด้วย[กลับหัวข้อหลัก]
การทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดความเสียหายต่อป่าชายเลน

การอนุรักษ์ป่าชายเลน โดยที่ป่าชายเลน เป็นทรัพยากรที่สำคัญและให้ประโยชน์ทั้งในด้านป่าไม้ ประมง และรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ป่าชายเลนได้ถูกทำลายลงด้วยกิจกรรมต่างๆ อยู่เป็นประจำ ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องหาแนวทางในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าชายเลนให้ได้ผลเต็มที่ตลอดไป และในขณะเดียวกันก็ไม่เป็นการทำลายระบบนิเวศด้วย หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือ การจัดการทรัพยากรป่าชายเลนเพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ยั่งยืนต่อไปการอนุรักษ์ป่าชายเลน ได้แก่ ๑. การรักษาพื้นที่ป่าชายเลนที่มีอยู่ให้คงไว้ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร และจะต้องช่วยกันหลายๆ ฝ่าย ลำพังกรมป่าไม้แต่เพียงหน่วยงานเดียว ย่อมทำได้ยาก การป้องกันอย่างจริงจัง รวมทั้งการจัดการวางแผนการใช้ที่ดินชายฝั่งทะเลให้เหมาะสม จะเป็นทางหนึ่งที่จะรักษาพื้นที่ป่าชายเลนไว้ได้ นอกจากนี้กฎระเบียบต่างๆ ตลอดจนมติคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับการใช้พื้นที่ป่าชายเลนควรจะใช้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ๒. การเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน โดยการปลูกป่า ปัจจุบันกรมป่าไม้มีนโยบายที่จะขยายและสนับสนุนการปลูกป่าชายเลนเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของราชการ และส่วนของเอกชน ตามพื้นที่ว่างเปล่าบริเวณชายฝั่งทะเล ทั้งที่ผ่านการทำเหมืองแร่ หรือพื้นที่นากุ้ง หรือนาข้าวที่เลิกไปแล้ว ซึ่งมีอยู่มากมาย และมีโอกาสที่จะฟื้นฟูให้เป็นป่าชายเลนขึ้นมาได้ นอกจากนี้พื้นที่ดินงอกตามชายฝั่งทะเลก็เป็นพื้นที่ที่จะสามารถปลูกป่าชายเลนขึ้นมาได้ ๓. การใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าชายเลนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการศึกษาวิจัยเพื่อหาวิธีการและเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านป่าไม้ ประมงและวิธีการผสมผสานระหว่างป่าไม้กับประมงให้มากขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้ หากทางด้านผู้ปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ควบคุม และนักวิชาการ ได้ร่วมมือกันอย่างจริงจังแล้ว เชื่อว่าการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าชายเลนจะประสบผลสำเร็จมากขึ้น โดยได้ผลิตผลสูงขึ้น และปราศจากการทำลายระบบนิเวศของตัวเอง